ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาท ภารกิจ แยกแยะบทบาทหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการกำกับหรือในการให้บริการยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า และปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล รวมทั้งมีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกัน และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น กฎหมายต้องมีความชัดเจน มีเพียงเท่าที่จำเป็น มีความทันสมัย มีความเป็นสากล มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อต่อการพัฒนา โดยกระบวนการยุติธรรมมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และการอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม

1. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการ ให้บริการอย่างรวดเร็ว โปร่งใส

  • การบริการของภาครัฐได้มาตรฐานสากล
  • นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้


2. บริหารงานแบบบูรณาการ

  • ยุทธศาสตร์ชาติเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
  • ระบบการเงินการคลังสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
  • ระบบติดตามประเมินผล เน้นบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ


3. ส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

  • ภาครัฐขนาด “เล็ก” ลง
  • ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
  • ส่งเสริมการกระจายอำนาจ


4. ภาครัฐมีความทันสมัย

  • การบริหารองค์กรยืดหยุ่น
  • ระบบวิธีปฏิบัติราชการทันสมัย


5. คุณสมบัติบุคลากรภาครัฐ

  • คนดี คนเก่ง
  • ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึก
  • มีความสามารถสูง มุ่งมั่น และเป็นมืออาชีพ


6. ภาครัฐโปร่งใส ปลอดการทุจริต และประพฤติมิชอบ

  • ประชาชนและภาคีต่างๆ ร่วมป้องกันการทุจริต
  • บุคลากรภาครัฐยึดมั่นหลักคุณธรรม
  • ปราบปรามขั้นเด็ดขาด เป็นธรรม และตรวจสอบได้
  • ป้องกันและปราบปรามอย่างบูรณาการ


7. กฎหมายทันสมัย

  • กฎหมายสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง
  • มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น
  • บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ


8. ระบบยุติธรรมเคารพสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค

  • การทำงานภาครัฐยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • กระบวนการยุติธรรมมุ่งค้นหาความจริง
  • กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมกัน
  • ส่งเสริมระบบยุติธรรมทางเลือก
  • พัฒนามาตรการอื่นแทนโทษอาญา