บทความทางวิชาการ เรื่อง วาระแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG

ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป และให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐพิจารณากำหนดและดำเนินแผนงาน/โครงการต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในเรื่องนี้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน

ที่มาของ BCG Model

          กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 โดยได้ระบุถึงสภาพปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตว่าประเทศไทยยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งควรเป็นจุดแข็งของประเทศอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีลักษณะแบบ “ทำมากแต่ได้น้อย” ซึ่งสุดท้ายแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคส่วนต่าง ๆ และปัญหาการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับสูง ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)

            เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้จุดแข็งของประเทศด้านทรัพยากรโดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก” สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดตลอดห่วงโซ่ การผลิตสินค้าและบริการด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กระทรวง อว. จึงได้เสนอ BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 สาขายุทธศาสตร์คือ สาขาการเกษตรและอาหาร สาขาสุขภาพและการแพทย์ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และสาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดัน BCG Model ด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 325/2563 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 แต่งตั้งคณะกรรมการทั้งหมด 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนงานการขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และกำหนดกลไกการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน การพัฒนาระบบนิเวศ การปรับแก้หรือพัฒนากฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG

เศรษฐกิจ BCG คืออะไร?

          อันที่จริงแนวคิดทั้ง 3 เรื่อง ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจ สีเขียว ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งปรากฏในโลกแต่อย่างใด แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวสามารถพิจารณาย้อนกลับไปได้ตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว ซึ่งแต่ละแนวคิดก็มีพัฒนาการในตัวเองและมีความประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน

          Birner (2018) ได้ศึกษาต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งแนวคิดนี้ได้มีการนำเสนอตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1960s แม้ว่าความหมายและขอบเขตของแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่รากฐานของแนวคิดยังคงอยู่ที่การใช้ทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยแนวคิดในปัจจุบันได้มุ่งเน้นให้มีการใช้องค์ความรู้ การวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ และการนำทรัพยากรชีวภาพเหล่านั้นมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          ในทำนองเดียวกัน แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนก็เริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1960s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นานาชาติเริ่มให้ความสนใจเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีจุดเริ่มต้นจากการบริหารจัดการวัสดุและทรัพยากรเหลือใช้หรือขยะจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาแนวคิดได้ขยายขอบเขตมายังการบริโภคให้สามารถนำขยะจากการบริโภคมาใช้ได้ใหม่ (recycle) ดังนั้น ทั้งวัสดุที่เหลือทิ้งจากการผลิตและการบริโภคจะสามารถนำมาสร้างคุณค่าได้ใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย แนวคิดนี้ยิ่งได้รับการตอบรับในยุคปัจจุบันที่หลาย ๆ ประเทศเกิดปัญหาวิกฤตการขาดแคลนทรัพยากร ปัญหาการจัดการขยะ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Blomsma and Brennan, 2017)

          แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ได้รับการพัฒนามาจากสองแนวคิดข้างต้น โดยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960s ที่ทั่วโลกเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สารเคมีที่มีต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม จนนำไปสู่การประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ กรุงสต๊อกโฮม ประเทศสวีเดน ในปี ค.ศ. 1972 และมีการจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ในปีเดียวกัน โดย UNEP ทำหน้าที่กำหนดวาระด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และส่งเสริมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน จนกระทั่งปี ค.ศ. 2009 UNEP ได้ออกเอกสารทางวิชาการชื่อ Rethinking the Economic Recovery: A Global Green New Deal ซึ่งได้ระบุถึงปัญหาของการที่ทั่วโลกมุ่งพัฒนาโดยละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดวิกฤติในด้านต่าง ๆ ซึ่ง UNEP เสนอให้ประเทศต่าง ๆ ควรปฏิรูปการลงทุนในระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นสินค้าสาธารณะ โดยใช้กลไกราคาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยให้นิยามของเศรษฐกิจสีเขียวว่าเป็นเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศต่าง ๆ ไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมของสังคม อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนเชิงนิเวศได้ (Barbier, 2009)

แล้วทำไมประเทศไทยเพิ่งมาสนใจ?

          รัฐบาลไม่ได้เพิ่งมาตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากการบรรจุประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ BCG ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้ตระหนักถึงปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรและภาคบริการอยู่ในระดับต่ำ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศทั้งสิ้น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 23 แผนในการถ่ายทอดเป้าหมายและประเด็นยุทธศาสตร์ลงสู่แผนระดับต่าง ๆ และได้มีการเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้ปรากฏในแผนแม่บทฯ อาทิ การพัฒนาให้เกษตรชีวภาพมีมูลค่าสูงขึ้นด้วยการใช้นวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อการแปรรูปสินค้าจากความหลากหลายชีวภาพ การส่งเสริมให้มีการนำวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับชีวภาพ การทำระบบฟาร์มอัจฉริยะ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างบูรณาการตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมด้วยการใช้ความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

          สำหรับแผนการปฏิรูปประเทศซึ่งได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้ตระหนักถึงการใช้ฐานทรัพยากรรองรับการพัฒนาประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว และต้องการยกระดับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน และมีการคัดเลือกกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ทั้งสิ้น 62 กิจกรรม ซึ่งต้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วงปี 2564 – 2565 อีกทั้งยังกำหนดให้มีการปรับปรุงพัฒนากฎหมายอีก 45 ฉบับ โดยในจำนวนกิจกรรม Big Rock และกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนานี้ ได้มีการเน้นย้ำความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสร้างเกษตรมูลค่าสูงและการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพและทักษะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตในส่วนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ก็เช่นกัน แผนฉบับนี้ได้ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี การพัฒนาตามแผนฯ นี้จึงได้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 10 ด้าน มีประเด็นการพัฒนาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจกระแสใหม่ เช่น เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การพัฒนานวัตกรรมและการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต การบริการ ตลอดจนการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ การปรับโครงสร้างการผลิตโดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับปัจจัยพื้นฐานและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจโดยการใช้เทคโนโลยีวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละช่วงของห่วงโซ่มูลค่า การเพิ่มศักยภาพฐานการผลิตและบริการเดิมที่มีศักยภาพในปัจจุบันให้ต่อยอดไปสู่ฐานการผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีที่เข้มข้นและมีนวัตกรรมมากขึ้น

          ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเอาเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ว่าจะมุ่งเน้นในการนำเอาจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ชีวภาพ และวัฒนธรรม มาประสานกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสุด มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีความยั่งยืนมากที่สุด

สุดท้ายประเทศและประชาชนได้อะไรจากเศรษฐกิจ BCG?

          นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG จะส่งผลดีต่อธุรกิจ ผู้ประกอบการ และแรงงานทั้งประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทานแล้ว ยังส่งผลดีอย่างยิ่งต่อกลุ่มเป้าหมายหลักใน 4 สาขายุทธศาสตร์ อย่างแรกสุด อย่างที่เราทราบกันดีว่าภาคการเกษตรของประเทศไทยเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากมีจำนวนเกษตรกรและกลุ่มแรงงานตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอยู่กว่าสิบล้านคน แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจหรือรายได้ของประเทศที่เกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ การเพิ่มปริมาณผลผลิตต้องแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก เกิดความไม่คุ้มค่าและเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาภาคการเกษตรด้วยโมเดล BCG จะช่วยปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไปสู่สินค้าระดับพรีเมี่ยมที่ผลิตน้อย ใช้ทรัพยากรน้อยแต่สร้างมูลค่าได้สูง เพิ่มความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดเพื่อผลสุดท้ายนำไปสู่การยกระดับเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้เข้าสู่วิสาหกิจหรือธุรกิจการเกษตรที่เชื่อมต่อกับอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต ประเทศเกิดการปรับโครงสร้างภาคการผลิตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในขณะเดียวกันก็มีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบภายนอกมากขึ้น

          สำหรับด้านสุขภาพและการแพทย์ กระแสการเกิดขึ้นและขยายตัวของอุตสาหกรรมด้านนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกทั้งในขณะที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้นภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซา ชะลอตัวจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปรากฎว่าธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพกลับมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG จะช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ด้วยการใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมีอย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาและเวชภัณฑ์ วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นได้เองและลดการนำเข้าไปในตัว เกิดการขยายบริการด้านสุขภาพไปสู่การให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคลด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตใน GDP อย่างมาก ก้าวข้ามความเป็นประเทศรายได้ปานกลางด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบ

          สำหรับสาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ เพื่อให้เป็นไปตามแนวโน้มของโลกที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก เศรษฐกิจ BCG จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับของเสียจากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขยะจากอุตสาหกรรม ครัวเรือน ตลอดจนของเหลือทิ้งทางการเกษตร ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในรูปของพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีแหล่งพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ขยะ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับชุมชนทั่วทั้งประเทศ

          ในส่วนของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น เศรษฐกิจ BCG จะมุ่งเน้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนโดยใช้จุดแข็งเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา นำมาสร้างอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองไปพร้อมกัน การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะเน้นตลาดคุณภาพ สร้างมาตรฐาน ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย โดยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้บริหารจัดการและดูแลทั้งนักท่องเที่ยว และทรัพยากรการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ มีการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวตามขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว มีการพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้สร้างสรรค์และมีอัตลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเมื่อทรัพยากรการท่องเที่ยวมีลักษณะการใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และยั่งยืนแล้ว รายได้ที่ชุมชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็จะยั่งยืนด้วยเช่นกัน

          สรุปแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทั้งเรื่อง 1) การเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ของประชากร โดยคาดว่ามูลค่า GDP ของเศรษฐกิจ BCG จะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 3.5 ล้านคน ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานรากลดลง 2) การสร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงาน อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น โดยคาดว่าปัญหาการขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการจะต่ำลง คนไทยสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้มากขึ้น การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น และ 3) การสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่ามลพิษสิ่งแวดล้อมทั้งฝุ่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสียจะลดลง ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู การท่องเที่ยวมีระบบบริหารจัดการเพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยว เป็นต้น

บรรณานุกรม

Barbier, E. B. (2009). Rethinking the Economic Recovery: A Global Green New Deal. UNEP.

Birner, R. (2018). Bioeconomy Concepts. In: Lewandowski I. (eds) Bioeconomy. (pp. 17 – 38) Springer, Cham.

Blomsma F. and Brennan G. (2017). The emergence of circular economy: a new framing around prolonging resource productivity. J. Ind. Ecol., 21 (3), pp. 603 – 614.

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2564, 19 มกราคม). มติ ครม. “การกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ”. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2560). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบสอง (พ.ศ. 2560 – 2564). กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2561). ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580. กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). สรุปสาระสำคัญแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580). กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563). (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สำนักนายกรัฐมนตรี. (2563, 19 ตุลาคม). เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี.

ดาวน์โหลดบทความได้ที่นี่ http://bit.ly/3teJqPZ

Skip to content