ปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่รัฐบาล มุ่งมั่นดำเนินการแก้ไขในตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการขับเคลื่อนงานและภารกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานเกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลคนจนระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การปรับเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นการมุ่งเป้ารายบุคคล อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมถึงยังมีการติดตามประเมินผลที่นำไปถอดบทเรียนและนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ไม่มากนัก ทำให้การใช้งบประมาณ ยังไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำนักงาน ป.ย.ป. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป ประเทศ และแผนการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเน้นการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ ก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการผ่านโครงการสร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน โดยเน้นในเชิงนวัตกรรมกระบวนการผ่านการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง จำนวน ๓ พื้นที่ใน ๒ จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ตำบลดอยงาม อำเภอพาน พื้นที่ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร มีสรุปผลจากเป็นต้นแบบนโยบายจากทั้ง ๓ พื้นที่ ผลการถอดบทเรียนได้ปัจจัยความสำเร็จในภาพรวม รวมถึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ หรือการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ย.ป. ยังได้ดำเนินการการประกวดรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน โดยได้เริ่มดำเนินโครงการประกวดรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ตั้งแต่ปี 2564 และได้มีการถอดบทเรียนจากการตรวจประเมินรางวัลที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ ประกอบด้วย การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลาง การแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ มีความคิด สร้างสรรค์โดดเด่น และการดำเนินการต่อยอดอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้หัวใจสำคัญของผลงานทีได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภท ร่วมใจแก้จน คือ การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ส่งผลให้สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำไปขยายผลหรือเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ สำนักงาน ป.ย.ป. อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผลงานเพื่อประกวดรับรางวัล ซึ่งหน่วยงานหรือพื้นที่ที่สนใจสามารถยื่นแบบฟอร์มเสนอผลงานได้ตั้งแต่ วันนี้ – 14 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ทาง https://awards.opdc.go.th/awardsregister/