แอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการ

           ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในการติดต่อสื่อสารและติดตามข่าวสาร จึงเป็นการดีหากมีแอปพลิเคชันที่ตอบสนองหรืออำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการที่ค่อนข้างที่จะมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตให้สะดวกสบายและสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่ผู้พิการควรได้รับ
           สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมด้วย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พัฒนาแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการ สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการในด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้พิการสามารถใช้แอปนี้ในการแสดงตัวตนในการติดต่อแทนบัตรประจำตัวคนพิการรูปแบบปกติ (แบบแข็ง) เพียงแค่แสดง QR Code เพื่อเข้ารับบริการจากภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หมดปัญหากรณีบัตรชำรุดเสียหาย  โดยปัจจุบันทางหน่วยงานได้มุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการเวอร์ชั่นล่าสุดให้เน้นไปที่การใช้งานที่สะดวกแก่ผู้พิการมากขึ้น ยกตัวอย่างในเรื่องของการยื่นทำเอกสารกู้ยืม ที่ปกติแล้วจะต้องไปทำเรื่องที่สำนักงานโดยตรง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคแก่ผู้พิการบางคน แต่ในปัจจุบันผู้พิการสามารถยื่นทำเอกสารกู้ยืมผ่านแอปพลิเคชันบัตรคนพิการได้ทันที เพียงแค่เข้าแอปพลิเคชัน กรอก แนบเอกสารทางออนไลน์ ก็สามารถทำเรื่องกู้ยืมได้ ทำให้ลดระยะเวลาในการเดินทางและเพิ่มความสะดวกแก่ผู้พิการ ซึ่งผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ เพียงแค่กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ระบุวันเดือนปีเกิด ก็จะสามารถ Login เข้าสู่ระบบได้ทันที และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มฟังก์ชันต่าง ๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนผู้พิการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการแจ้งเตือนวันหมดอายุของบัตร, ฟังก์ชันในการค้นหางานสำหรับผู้พิการที่พัฒนาจากเดิมให้เป็นรูปแบบสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้, ระบบแสดงข้อมูลและจัดการสมาชิกของสมาคมและการดูแลสมาชิกคนพิการในสังกัดหน่วยงาน หรือการแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ที่ผิดพลาดได้ทุกที่ทุกเวลา
            จุดประสงค์หลักของแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการ คือให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐและรับสิทธิต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสำนักงาน ป.ย.ป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาและต่อยอดให้คนพิการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การดาวน์โหลดใช้งานแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันในสังคมในอนาคตต่อไป

Skip to content