การประชุมคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ครั้งที่ 6/2567

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง  จันทรางศุ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) ครั้งที่ 6/2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meetings)
โดยมีกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. (นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.) ผู้แทนหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเป็นกรรมการ
และมีเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ดังนี้

  1. แนวทางการนำกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการนำมาใช้กับบริบทประเทศไทย โดยเฉพาะการทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง คปธ. เห็นควรให้มีการศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ในการทำแบบสัญญามาตรฐาน รวมถึงแนวทางการดำเนินการต่อไป
  2. การปลดล็อกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศและการจัดงานเทศกาลดนตรี ซึ่งกรมการจัดหางานได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดยเพิ่มเติมการจัดงานเมกะอิเวนต์หรือการจัดงานเทศกาลนานาชาติ และงานเทศกาลดนตรีนานาชาติหรืองานคอนเสิร์ต ให้เป็นงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรือเฉพาะกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักดนตรีต่างชาติ กรณีเข้ามาทำการแสดงไม่เกิน 15 วัน ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานแล้ว นอกจากนี้ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้โรงแรมมีจำนวนห้องพักสำหรับผู้พิการ/ทุพพลภาพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ XX ของจำนวนห้องทั้งหมดว่าควรคำนึงถึงขนาดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ควบคู่กับสัดส่วนจำนวนห้องพักด้วย รวมทั้งอาจพิจารณากำหนดจำนวนห้องพักสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพจำแนกประเภทและขนาดของโรงแรม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการมากเกินไป
  3. การทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อจัดนิทรรศการหรือเพื่อใช้ในการศึกษา วิจัย หรือวิเคราะห์ทางวิชาการ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการกำหนดจำนวนเครื่องสำอางที่นำเข้ามีความเหมาะสม นอกจากนี้ คปธ. เห็นควรให้ศึกษาเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อจัดนิทรรศการ ซึ่งประเทศไทยมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับสากล ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ปีละ 2 ครั้ง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของโลก
  4. แนวทางการคำนวณราคาค่าไฟไหลย้อน ตามที่จะได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ให้สามารถคำนวณและวิเคราะห์การกำหนดราคาค่าไฟไหลย้อนได้อย่างเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คปธ. ต่อนายกรัฐมนตรี และการแถลงข่าวเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทบทวนระยะเวลาการพิจารณาเพื่อปรับลดระยะเวลาให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป รวมทั้งมีแนวทางการยกเลิกสำเนาเอกสารในกระบวนการ EIA โดยมีแผนการดำเนินการ/ขั้นตอนการจัดทำประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการจัดส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567

ทั้งนี้ ประธาน คปธ. ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และพิจารณาประเด็นการปรับปรุงกฎหมายฯ ของแต่ละคณะอนุกรรมการต่อไป

ที่มา : ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

Messenger
Skip to content