เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ คณะที่ 3 (อ.คปธ. คณะที่ 3) ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุม 802 ชั้น 8 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meetings)
โดยมีอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสำนักงาน ป.ย.ป. (นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน) ผู้ทรงคุณวุฒิผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน และมีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ย.ป. (นายสิทธิพงษ์ ธนาศุภวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญรักษาราชการแทนผู้อำนวยการกอง 2) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ซึ่งได้พิจารณาข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อลดข้อจำกัดการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ดังนี้
- การจัดกลุ่มกฎหมายว่าด้วยการถ่ายลำตามเกณฑ์พันธกรณีระหว่างประเทศ โดยพิจารณาเกณฑ์ความเสี่ยงจากลักษณะกิจกรรมการถ่ายลำและการผ่านแดน และลักษณะสินค้าซึ่งเป็นชนิดหรือลักษณะของสินค้าที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงสันติภาพ สาธารณสุข และความปลอดภัยของประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้กลุ่ม 1 มีพันธกรณีระหว่างประเทศกำกับเกี่ยวกับการนำผ่าน ถ่ายลำ และผ่านแดน
1.1 พ.ร.บ. การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562
1.2 พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564กลุ่ม 2 ไม่มีพันธกรณีระหว่างประเทศกำกับเกี่ยวกับการนำผ่าน ถ่ายลำ และผ่านแดน
2.1 กลุ่มกฎหมายกลาง
(1) พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560
(2) พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
2.2 กลุ่มที่มีผลกระทบทางด้านการเกษตรและเศรษฐกิจ
(1) พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507
(2) พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518
(3) พ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518
(4) พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558
(5) พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
2.3 กลุ่มที่มีผลกระทบทางด้านสาธารณสุขและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
(1) พ.ร.บ. งาช้าง พ.ศ. 2558
(2) พ.ร.บ. เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
(3) พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
(4) พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
(5) พ.ร.บ. ควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2495
(6) พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
(7) พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
(8) พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
ซึ่ง อ.คปธ. คณะที่ 3 จึงเห็นควรให้พิจารณาทบทวนข้อเสนอและแนวทางมาตรการควบคุมสินค้าตาม พ.ร.บ. กลุ่มที่ 2.2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบทางด้านการเกษตรและเศรษฐกิจ อันอาจมีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในกรณีการถ่ายลำและการผ่านแดนเพิ่มขึ้น - ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำผ่าน ผ่านแดน และถ่ายลำ เนื่องจากกฎหมายหลักการกลางและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายลำจำนวน 17 ฉบับ มีการกำหนดคำนิยามที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการตีความและบังคับใช้กฎหมาย อ.คปธ. คณะที่ 3 จึงเห็นควรให้กำหนดคำนิยามในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำผ่าน การผ่านแดน และการถ่ายลำ ของกฎหมายแต่ละฉบับให้เป็นคำนิยามตามลักษณะการขนส่งในรูปแบบเดียวกัน
- ข้อเสนอการปรับแก้ไขมาตรการควบคุมการผ่านแดนและการถ่ายลำ เนื่องจากหากมีการปรับคำนิยามการนำผ่าน ผ่านแดน และถ่ายลำ ตามข้อ 2 แล้ว ควรกำหนดมาตรการควบคุมการผ่านแดนและการถ่ายลำให้แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงจากลักษณะกิจกรรมการถ่ายลำและการผ่านแดนและลักษณะสินค้าซึ่งเป็นชนิดหรือลักษณะของสินค้าตามกฎหมายเฉพาะตามข้อ 1 ประกอบ โดยใช้ระบบการแจ้งในกรณีการถ่ายลำ และระบบการอนุญาตในกรณีการผ่านแดนเฉพาะเท่าที่จำเป็นและมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงสันติภาพ สาธารณสุข และความปลอดภัยของประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับจำนวนการนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การนำเข้าเครื่องสำอางฯ พ.ศ. 2562 จากเดิม 12 เป็น 24 ชิ้น (ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การนำเข้าเครื่องสำอางฯ พ.ศ. ….) ขณะนี้ประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) และได้รับทราบการประชุมหารือเพื่อลดข้อจำกัดการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ MICE และ Transshipment ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมสินค้าเกษตรในการนำสินค้าเข้า – ออก เพื่อจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ และการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ของไทยต่อไป
ที่มา : สำนักงาน ป.ย.ป. ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ คณะที่ 3