เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. (นางชุติมา หาญเผชิญ) มอบหมายรองผู้อำนวยสำนักงาน ป.ย.ป. (ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์) กล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ณ ห้องเปรมปรีดา ชั้น ๒ โรงแรมเซ็นทารา อยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน ๕๓ คนเข้าร่วมการสัมมนาฯ
ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวถึงภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่ได้ขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน โดยมีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257 (๑) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ โดยในปี ปี พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธธรรมศาสตร์จัดทำแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดอง ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดในปี พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ และในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2567) สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ เป็น 2 ส่วน ดังนี้ การสร้างการรับรู้ในระดับเยาวชน และการสร้างความสามัคคีปรองดองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ในปี พ.ศ.2568 สำนักงานฯ มีเป้าหมายในการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เพื่อใช้เป็นกลไกในการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยปรับเปลี่ยนวิธีการ ลงพื้นที่จริง เพื่อทดลองเครื่องมือใหม่ๆ แล้วนำผลการดำเนินการมาสรุปเพื่อใช้ในการปรับปรุงตัวกฎหมายต่อไป การสัมมนาฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่มีต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง การถอดบทเรียนแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนารูปแบบ วิธีการ หรือแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดอง รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ หรือแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การอภิปราย เรื่อง ถอดบทเรียนการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง การสร้างความเป็นธรรม ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนา ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี ผู้แทนสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ความปรองดอง โดยฉายภาพความปรองดองในมุมมองของชีวิตเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 โครงกระดูก เปรียบเสมือนกับการออกแบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมใหม่ ซึ่งมี 3 รูปแบบหลักคือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล,บุคคลต่อสังคม และสังคมต่อรัฐ ส่วนที่ 2 เนื้อหนัง เปรียบเสมือน ความจริง ความยุติธรรม การให้อภัย และการเยียวยา ส่วนที่ 3 ระบบนิเวศ เปรียบเสมือนระบบประชาธิปไตย โดยสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับความปรองดองมีหลายประการ เช่น เรื่องของการให้อภัยเพียงประการเดียว โดยมองไม่ครบในมิติของผู้ถูกกระทำ, การหวังความสันติที่สมบูรณ์ หรือการใช้แนวคิดทางศาสนาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มบุคคล เป็นต้น
นายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานอำนวยความยุติธรรมและนิติการ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม มีการดำเนินงาน 2 ส่วนงานที่สำคัญ คือ ส่วนงานป้องกัน และส่วนงานเยียวยา ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญให้การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ ตัวอย่างของการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม คือ ศูนย์ยุติธรรมชุมชน ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดตั้งจำนวน 7,783 แห่ง (ศูนย์ยุติธรรมชุมชนของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 157 ศูนย์) จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างภูมิกัน ความปลอดภัยจากอาชญากรรม ความเป็นธรรม และความสงบสุขของชุมชน และมีคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน จำนวน 116,745 คน ซึ่งมาจากตัวแทนของประชาชนในชุมชน ศูนย์ยุติธรรมชุมชนมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความปรองดองโดยตรง คือ รับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ปัญหาความไม่เป็นธรรมของประชาชน การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทหรือความขัดแย้งในชุมชน ให้เกิดความสมานฉันท์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน
ผศ.ดร.อัครวินท์ ศาสนพิทักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและการวิจัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึง ความขัดแย้งในมิติของการพัฒนาชุมชนหรือเมือง เมื่อมีการพัฒนาในพื้นที่ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ความขัดแย้งจึงเกิดจากการเสียผลประโยชน์ และถูกละเมิดสิทธิ(จากการดำเนินการของรัฐ) เมกะโปรเจกต์หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น บ่อขยะ รถไฟฟ้า คลองส่งน้ำ เป็นต้น แม้จะเป็นโครงการที่เป็นการพัฒนาในพื้นที่ แต่ทุกครั้งที่มีการพัฒนาจะมีผู้ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ถูกละเมิด จึงทำให้เกิดการต่อต้านอยู่เสมอ แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง 1) การประชาเสวนา การพูดคุยด้วยเหตุผล 2) มีบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในสังคมเพื่อเป็นคนกลางในการแก้ปัญหา และ 3) รายงานปัญหาต่างๆ ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหา
ช่วงท้ายของการสัมมนาฯ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตลอดจนการสร้างความสามัคคีปรองดองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้แบ่งกลุ่ม จำนวน 2 กลุ่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ที่มาจากหน่วยงานที่หลากหลายในแต่ละกลุ่มได้แลกเปลี่ยนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสามัคคีปรองดองของหน่วยงาน กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ เครื่องมือ / วิธีการ / แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ทั้งเครื่องมือในเชิงป้องกันและเยียวยา) ปัญหาหรืออุปสรรค รวมทั้งผลที่ได้จากการดำเนินโครงการ / กิจกรรมดังกล่าว เพื่อได้รับทราบกลไกการดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การระดมสมองเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือพัฒนาเครื่องมือ / วิธีการ /มาตรการ และแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป