การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ณ จังหวัดขอนแก่น

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. (นางชุติมา หาญเผชิญ) มอบหมายรองผู้อำนวยสำนักงาน ป.ย.ป. (ดร.ศุภฤกษ์  ภู่พงศ์ศักดิ์) กล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ณ ห้องประชาสโมสร 1 อวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน ๕๘ คนเข้าร่วมการสัมมนาฯ

ดร.ศุภฤกษ์  ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวถึงภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่ได้ขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน โดยในปี ปี พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดอง ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดในปี พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ และในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2567) สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ เป็น 2 ส่วน ดังนี้ การสร้างการรับรู้ในระดับเยาวชน และการสร้างความสามัคคีปรองดองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ในปี พ.ศ. 2568 สำนักงานฯ มีเป้าหมายในการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เพื่อใช้เป็นกลไกในการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยปรับเปลี่ยนวิธีการ ลงพื้นที่จริง เพื่อทดลองเครื่องมือใหม่ ๆ แล้วนำผลการดำเนินการมาสรุปเพื่อใช้ในการปรับปรุงตัวกฎหมายต่อไป การสัมมนาฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่มีต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง การถอดบทเรียนแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนารูปแบบ วิธีการ หรือแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดอง รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ หรือแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

การอภิปราย เรื่อง ถอดบทเรียนการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง การสร้างความเป็นธรรม ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึง หลักการปรองดอง และ การใช้หลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานการปรองดอง โดยมีทัศนะต่อการสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม 4 ประการดังนี้ 1) เสริมสร้างหลักนิติธรรมที่มาจากประชาชน 2) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นธรรม 3) การปรับตัวและเปิดรับแนวคิดใหม่ และ 4) การส่งเสริมคนรุ่นใหม่่ ในปัจจุบันหลักนิติธรรมของไทยยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ การปรับมุมมองกฎหมายให้ส่งเสริมความเป็นธรรมอย่างรอบด้าน ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งและการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ ไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องพิจารณาและแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ซึ่งต้องตั้งความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม

นายจิรัฏฐ์ สถาปัตย์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ ผู้แทนสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการดำเนินการของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชุมชน ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน “ศูนย์ยุติธรรมชุมชน”  ในจังหวัดขอนแก่น มีจำนวนทั้งสิ้น 220 ศูนย์  และมีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำอำเภอ ในกรณีหากเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนจำนวนมาก ดำเนินการผ่านกลไก ของคณะกรรมการในกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การดำเนินการใดๆ ของภาครัฐ ควรมีการวิเคราะห์และประเมินผลของการดำเนินการถึงผลกระทบต่อประชาชนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ การเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย เรื่องความเชื่อมั่นของตัวกลางในการพูดคุยเพื่อเป็นตัวประสาน ถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการสื่อสารทั้งแก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดยต้องหาจุดกลางที่ตกลงกันได้อย่างพึงพอใจ  และไม่กระทบสิทธิ์ต่อผู้อื่น

นายภพธรรม สุนันธรรม หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึง ตัวอย่างเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง คือ “การเปิดพื้นที่ปลอดภัย” ให้บุคคลได้พูดคุยร่วมกัน แบบเปิดอกโดยมีคนกลางที่ได้รับความไว้วางใจจากทั้ง 2 ฝ่ายในการหาข้อตกลง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการช่วยเหลือภาคประชาชน ผ่านการเสนอปรับแก้กฎหมายที่ส่งผลกระทบจากการบังคับใช้ต่อประชาชน ตัวอย่าง กรณีการเวนคืนพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ซึ่งต้องใช้หลายหน่วยงานเข้ามาให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการเปิดพื้นที่พูดคุย

การบรรยาย หัวข้อ มุมมองและประสบการณ์การสร้างความสามัคคีปรองดองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม โดย ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation)กล่าวถึง เป้าหมายของมูลนิธิ ต้องการเห็นสังคมที่มีความหลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ตัวอย่างของเครื่องมือที่ทางมูลนิธิใช้ในการแก้ไขความขัดแย้ง เช่น ดรีมไทยแลนด์, DREAM CONSTITUTION, ไทยแลนด์ ทอล์ก , PEACESOCRACY GAME, TALK TO TRANSFORM GAME, กระบวนการการมีส่วนร่วม จากประสบการณ์การทำงานของมูลนิธิพบว่าในประเทศไทย บรรยากาศของสังคม ยังไม่เอื้อในการเปิดโอกาสให้คนเปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและพบว่าช่วงอายุ generation และประสบการณ์ ทำให้กลุ่มคนในแต่ละวัยมีความคิดแตกต่างกัน รวมถึงการเสพสื่อในแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน การเปิดเวที หรือเปิดพื้นที่ปลอดภัย ต้องมีกติการ่วมเพื่อเป็นข้อตกลงเสมอ

ช่วงท้ายของการสัมมนาฯ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตลอดจนการสร้างความสามัคคีปรองดองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้แบ่งกลุ่ม จำนวน 2 กลุ่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ที่มาจากหน่วยงานที่หลากหลายในแต่ละกลุ่มได้แลกเปลี่ยนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสามัคคีปรองดองของหน่วยงาน กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ เครื่องมือ / วิธีการ / แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ทั้งเครื่องมือในเชิงป้องกันและเยียวยา) ปัญหาหรืออุปสรรค รวมทั้งผลที่ได้จากการดำเนินโครงการ / กิจกรรมดังกล่าว เพื่อได้รับทราบกลไกการดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน  อันจะนำไปสู่การระดมสมองเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือพัฒนาเครื่องมือ / วิธีการ /มาตรการ และแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

 

แชร์ข่าวนี้

ข่าวอื่น ๆ

Messenger
Skip to content