การสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมาย มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม STO Key Policy Driving Forum 2024 : Soft Power, MICE & Transshipment

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) จัดการสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมาย มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม STO Key Policy Driving Forum 2024 : Soft Power, MICE & Transshipment  ณ ห้องบอลรูม 1 – 3  โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร (ประตูน้ำ) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จัทรางศุ กรรมการกฤษฎีกา นายแพทย์สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี ดร.ชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. พร้อมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ คณะที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานและผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการสัมมนาฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม รวมถึงประชาสัมพันธ์การดำเนินการของสำนักงาน ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายเพื่อลดข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจและส่งเสริมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ผ่านกระบวนการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) โดยสาระสำคัญของการสัมมนาฯ สรุปได้ ดังนี้

ดร.ชุติมา  หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ และกล่าวถึงภารกิจที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2567 แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ และการทบทวนปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดข้อจำกัดในการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) และการนำสินค้าเข้า – ออก เพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรายงานความคืบหน้าของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ให้สาธารณชนได้รับทราบ ตลอดจนเป็นเวทีในการให้ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจะได้รับฟังการบรรยายพิเศษและการอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับ Soft Power, MICE & Transshipment  ตลอดการสัมมนาฯ

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จัทรางศุ กรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงถึงกฎหมายในปัจจุบันมีจำนวนมาก และกฎหมายเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจว่าสำเร็จไปได้มากน้อยเพียงใด และในฐานะที่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) ได้มุ่งเน้นในการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (อ.คปธ.) จำนวน 4 เรื่องหลัก คือ

  1. การทบทวนและปรับปรุงกติกาการเข้ามาทำงานของคนต่างด้าวในประเทศ
  2. การปรับปรุงระบบการขออนุญาตในการประกอบธุรกิจด้านการบริการ เช่น กิจการโรงแรม ธุรกิจด้านอาหาร การถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น
  3. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำและการนำสินค้าเข้า – ออก เพื่อแสดงสินค้าและนิทรรศการ
  4. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

การจะทบทวนปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงจะต้องอาศัยการวางระบบการทำงานให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ความชัดเจนในทางนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคประชาชน

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวถึงหลักการดำเนินงานสำคัญของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร) โดยได้แถลงให้ประชาชนรับทราบ ใน 2 มิติ มิติแรกคือหลักการบริหารงาน มี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ การสร้างการมีส่วนร่วม (inclusive) การประสานพลังกับทุกภาคส่วน (collaborative) การส่งเสิรมศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทย (empowerment) และมิติที่สอง คือ นโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนต่อไป จำนวน 4 เรื่อง คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การอยู่ในสังคมที่ปลอดยาเสพติด การยกระดับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ดังนั้น การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาและต่อยอดต่อไป ทั้งนี้ อาจมีการทบทวนอุตสาหกรรมที่จำเป็นและเหมาะสม ซึ่งปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐที่ดำเนินการในต่างประเทศและภาครัฐที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นทูตทางการค้าที่สำคัญในการเผยแพร่สินค้าหรือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ บทบาทภาครัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการร่วมคิด ร่วมทำ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตต่อไป

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม

และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเป็นวิทยากรเสวนาหัวข้อ การปฏิรูปกฎหมายและมาตรการเพื่อลดข้อจำกัดในการ

นำสินค้าเข้า – ออกเพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) และการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) โดยมี ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปได้ ดังนี้

  1. การเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ประเทศไทยมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลาง (ภาคพื้น) เอื้อต่อการขนถ่ายสินค้าผ่านเรือ แต่เส้นทางการเดินเรือยังไม่ถือว่าเป็นศูนย์กลาง รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่สูงเกินส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่จำให้เรือแม่มาดำเนินการผ่านแดนหรือถ่ายลำ ณ ประเทศไทย ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 17 ฉบับ มีประเด็นที่เป็นข้อจำกัด เช่น คำนิยามที่แตกต่างกันส่งผลต่อมาตรการในการควบคุมแตกต่างกัน การใช้ระบบอนุญาตความไม่พร้อมของการระบุรายการสินค้าและระบบดิจิทัลเพื่อรองรับกระบวนการอนุญาต ซึ่งหากมีการแก้ไขปัญหา จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการถ่ายลำของไทยสูงขึ้น และเป็นสัญญานอันดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อไป
  2. . การนำสินค้าเข้า – ออก เพื่อจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) อุตสาหกรรมไมซ์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นตัวชี้วัดแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนที่มีต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเคียงกับประเทศใกล้เคียงพบว่าระบบขออนุญาต การชำระภาษี และจำนวนที่อนุญาตให้นำเข้ายังเป็นข้อจำกัดต่อดำเนินการของอุตสาหกรรมไมซ์ ดังนั้น เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดประชุมและนิทรรศการของประเทศอย่างแท้จริง จึงต้องเพิ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพิ่มข้อมูลให้ครอบคลุม ทบทวนมาตรการทางด้านภาษี และลดข้อจำกัดทางกฎหมายทั้งการเข้าเมืองของคนต่างชาติและการเข้า – ออกของสินค้า อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป

กฎหมายเป็นกติกาในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับความต้องการในห้วงเวลาหนึ่ง ๆ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามการพลวัตของโลก ต้องหาความเกี่ยวข้องระว่างระบบนิเวศและกฎหมายนั้น ในกรณีการถ่ายลำ (Transshipment) หากต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จะต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนที่ต้องดำเนินการ ระบบการบริหารจัดการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่อำนวยความสะดวกต่อการค้าการลงทุนภาพรวมของประเทศจะต้องบูรณการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศและความเชื่อมั่นในการลงทุนของผู้ประกอบการ อันจะทำให้ประเทศยกระดับเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนรวมถึงการจัดงานสำคัญในระดับโลก

นางเมธินี  เทพมณี ผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์  กรรมการพัฒนาระบบราชการ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองเลขาธิการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเป็นวิทยากรเสวนาหัวข้อ การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยมี นางสาวรานี อิฐรัตน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปได้ ดังนี้

การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพรวมโดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมภาคเอกชน ในส่วนภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและจัดทำการสร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ที่ภาคเอกชนดำเนินการทำให้เกิดการสร้างมูลค่าและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมต่างให้เป็นรูปธรรมในระยะยาวต่อไป  โดยปัจจุบันสำนักงาน ป.ย.ป. ทำหน้าที่เป็น THACCA interim Office เพื่อขับเคลื่อนงานซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านกระบวนการสร้าง ecosystem จำนวน 6 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านการจัดทำแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ทิศทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในภาพรวมเพื่อให้เห็นจุดร่วมการดำเนินการของภาพรัฐและภาคเอกชนร่วมกัน และเพื่อให้การจัดทำโครงการของแต่ละอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแผนและทิศทางการขับเคลื่อนในอนาคต ซึ่งบางอุตสาหกรรมมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันจะต้องบูรณาการส่งเสริมกันและกัน เช่น เฟสติวัล แฟชั่น อาหาร เป็นต้น
  2. ด้านการจัดทำมาตรการและสิทธิประโยชน์ เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงออกแบบและจัดทำมาตรการที่เป็นการจูงใจเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้มีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าให้มากขึ้น
  3. ด้านการกลั่นกรองและกำกับติดตามโครงการ ภายหลังจากที่ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐบาลดำเนินโครงการเพ่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ต้องมีแนวทางในการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสม ติดตามการดำเนินโครงการตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เป็นการออกแบบและจัดทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้
    สาธารชนรับทราบการดำเนินการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในภาพรวมที่คำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทุนภูมิปัญญา ทุนวัฒนธรรม ทุนฐานทรัพยากร และที่สำคัญต้องหาจุดร่วม Big Theme ของแต่ละอุตสาหกรรม ให้เกิดความเชื่อมโยงสร้างมูลค่าและสามารถการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระบบ
  5. ด้านการพัฒนาระบบและฐานข้อมูล เนื่องจากในการจัดทำแผน การวิเคราะห์การติดตามประมวลผล หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้ฐานข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งปัจจุบันได้การบูรณาการและพัฒนาฐานข้อมูลจากระบบที่มีอยู่เพื่อให้เห็นภาพรวมและความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และมีความปลอดภัย
  6. ด้านการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS เป็นจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะของกำลังแรงงาน ผ่านกระบวนการการรับรอง ความรู้ ความสามารถ และทักษะให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละด้าน รวมทั้งสามารถรวบรวมเป็นเครดิตสามารถใช้ต่อยอดในการศึกษา และปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานการศึกษาหรือภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะได้อย่างเต็มรูปแบบและมีผู้ผ่านการอบรมมีทักษะและความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่อไป

ทั้งนี้ ท่านสามารถรับชมย้อนหลังได้จาก Facebook สำนักงาน ป.ย.ป. ผ่านลิงก์นี้
ช่วงเช้า : https://web.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1723383861530900

  • เวลา 30 – 10.15 น. บรรยายพิเศษ หัวข้อ การปฏิรูปกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อน Soft Power สู่เวทีโลก
  • เวลา 45 – 12.00 น. บรรยายพิเศษ หัวข้อ บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

ภาคบ่าย : https://web.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=2992220614254159

  • เวลา 00 – 14.30 น. อภิปราย หัวข้อ การปฏิรูปกฎหมายและมาตรการเพื่อลดข้อจำกัดในการนำสินค้าเข้า – ออกเพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) และการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transshipment)
  • เวลา 45 – 16.30 น. อภิปราย หัวข้อ การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
Messenger
Skip to content