เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการกับปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าระดับปลัดกระทรวงจาก 15 หน่วยงาน หัวข้อ “ถอดบทเรียนโควิด – 19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาสและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่จัดโดยสำนักงานสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ร่วมกับสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระดมสมองในการหาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
ในกิจกรรมดังกล่าว ดร.สุวิทย์ได้บรรยายถึงสถานการณ์ของประเทศไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลก และได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา รวมไปถึงการกำหนดนโยบายในการจัดการปัญหาและกำหนดแนวทางลงสู่การปฏิบัติ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังได้มีการแบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและสังเคราะห์แนวทางการการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติในระยะเวลาที่จำกัดใน 4 หัวข้อ ได้แก่ การสร้างสังคมที่เป็นธรรม การเตรียมคนไทยสู่โลกที่หนึ่ง การเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการซ่อมวัฒนธรรมเดิมสร้างวัฒนธรรมใหม่
ดร. สุวิทย์ฯ ได้กล่าวในการบรรยายตอนหนึ่งว่า “ตั้งแต่อดีตมาเราต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติซ้ำซากมาโดยตลอดแต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ซึ่งจากวิกฤตการณ์ที่โลกที่เราต้องเผชิญร่วมกันในขณะนี้ วิกฤติโควิด -19 เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเราจะต้องตระหนักและเตรียมรับมือเพราะเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่มีวัคซีนรองรับ ได้แก่ Climate Crises และ Cyber Attack และในฐานะที่ทุกท่านเป็นเสาหลักของกระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องขับเคลื่อนประเทศไปในบริบทต่าง ๆ ต้องช่วยกันคิดว่าเราจะอยู่ในภูมิทัศน์ใหม่นี้อย่างไร จุดแข็งของระบบราชการก็คือเป็นระบบหนึ่งในไม่กี่ระบบที่มีความต่อเนื่องในตัวเอง ดังนั้น การที่เราได้มาคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดในวันนี้ จุดประสงค์หลักไม่ได้เน้นที่โจทย์หรือหัวข้อที่จะขับเคลื่อน แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องกลไกที่จะสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จจริงหรือไม่ ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของหลักสูตร ป.ย.ป.”