ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ป.ย.ป. ในกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจก่อนการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ

             เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ นางพงษ์สวาท  กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ เเละการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป. ) กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงภาพรวมกิจกรรมของ หลักสูตร ป.ย.ป. แก่ผู้เข้าร่วมการอบรมตามโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง:ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตรป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกอบด้วยรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า (ป.ย.ป. ๒) และข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไปและกลุ่มกำลังคนคุณภาพของภาครัฐ (ป.ย.ป. ๔) ในกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจก่อนการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันคิดวิเคราะห์หาแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายและประเด็นต่างๆ ให้มีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเป็นการจัดกิจกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ประมาณ ๕๕ คน

             โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปรับลดกฎหมายเพื่อนำสู่การเป็นรัฐที่ทันสมัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรได้ซักถามข้อมูลและขอรับคำแนะนำ โดย ดร. กอบศักดิ์ฯ ได้อธิบายให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรเข้าใจถึงความสำคัญในการที่ภาครัฐควรต้องยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ล้าสมัย พร้อมทั้งยกกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศมาเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม  นอกจากนี้ยังได้มีการบรรยายเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิรูปกฎหมาย และเชิญชวนให้หน่วยงานจัดทำโครงการลด เลิก ละ เพื่อประชาชน ซึ่งหลังจากได้รับฟังหารบรรยาย ผู้เข้าร่วมหลักสูตรได้แสดงความสนใจที่จะนำไปต่อยอดในการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

             นอกจานี้ ยังมีการบรรยายพิเศษของ ผศ. ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ออกแบบนโยบายอย่างโดนใจผู้รับกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือการออกแบบนโยบายอย่างเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ โดยมีการบรรยายถึงปัจจัยที่ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงในการออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมตอบสนองที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ผู้กำหนดนโยบายตั้งใจไว้ ได้แก่ ปัจจัยด้านความกลัว (Fear Factor) ที่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งในหลายครั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนก้าวข้ามความกลัวในการทำพฤติกรรมใหม่ ๆ ปัจจัยด้านความภาคภูมิใจ (Proud Factor) ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วม และผลกระทบจากบรรทัดฐานของสังคม (Norm Effect) ที่กล่าวถึงกล่าวถึงการนำบรรทัดฐานของชุมชนหรือสังคมมาช่วยจัดการเรื่องใหม่ โดยอาจใช้บรรทัดฐานเดิมหรือสร้างบรรทัดฐานใหม่มาสร้างความมั่นใจให้กลุ่มคนในสังคมปฏิบัติตาม

             กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาทักษะในการขับเคลื่อนงานของภาครัฐให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งที่เป็น Hard Skill ผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับกลุ่มเป้าหมาย และ Soft Skill ผ่านการทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ โครงการอบรมในหลักสูตร ป.ย.ป. นี้จะมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบของการขับเคลื่อนและ On-the Job Coaching ครั้งต่อไปในวันพุธที่๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ในรูปแบบการประชุมปฏิบัติการ หัวข้อ “การวาดภาพอนาคตอย่างมีส่วนร่วม (Strategic Foresight)” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนขับเคลื่อนการบูรณาการงานต่อไป

Messenger
Skip to content