ไทยจะฟื้นตัวไปพร้อมความเหลื่อมล้ำที่อาจสูงขึ้น
สรุปประเด็นเสวนาจาก Clubhouse
‘THAILAND After COVID-19 : เศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนเดิม’
เข้าสู่ปีที่ 2 แล้วที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อย่างที่ทราบกันดีว่า แม้ครั้งนี้จะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขและการแพทย์ แต่ผลกระทบที่ตามมาและได้สร้างแผลเป็นระยะยาวให้กับทุกภาคส่วนก็คือ วิกฤตด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลาง SMEs คนทำงานออฟฟิศ ไปจนถึงคนระดับฐานรากของประเทศ
ที่ผ่านมา ไทยเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 มาแล้วก็จริง แต่บริบทเมื่อ 24 ปีที่แล้วแตกต่างจากตอนนี้โดยสิ้นเชิง ครั้งนี้เกิดจากวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ไม่มี ‘playbook’ ให้เราคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์ปกติจะกลับมาตอนไหน ‘Endemic’ หลังโควิด-19 จบลง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมแผนรับมือ หาทางออกให้กับประเทศกันต่อไป
ด้วยสถานการณ์วิกฤตที่ยากเกินคาดเดาเช่นนี้ Future Trends ได้สรุปใจความสำคัญที่น่าสนใจ และสามารถเป็น Key Takeaway ให้กับทุกคนในช่วงเวลาแบบนี้ได้ จากวงเสวนาคลับเฮาส์ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และเศรษฐกิจร่วมแลกเปลี่ยนทั้งหมด 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ, ดร.วิรไท สันติประภพ และศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ในหัวข้อ THAILAND After COVID-19 : เศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนเดิม
จาก ‘Pandemic’ สู่ ‘Endemic’ กับ 6 การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 จบลง
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต และวิเคราะห์สถานการณ์หลังจบโควิด-19 ให้ฟังด้วยการมองไปข้างหน้าว่า วิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจจะไม่จบลงทันทีที่การระบาดใหญ่หายไป แต่ยังทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้มากมาย ที่คนทำงาน เจ้าของกิจการ และรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ต้องเตรียมแผนตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรมด้วย โดยเราสรุปทั้ง 6 ประเด็นสำคัญไว้ ดังนี้
1.ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย
ตอนเกิดวิกฤตโควิด-19 ใหม่ๆ มีการวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ U-Shaped L-Shaped หรือ W-Shaped ซึ่งถือเป็นการมองแบบเดิมๆ เพราะตอนนี้กราฟเศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูป K-Shaped คือมีสองขา ขาขึ้นมีคนกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์ สินทรัพย์มีมูลค่าสูงขึ้น ไม่กระทบเรื่องรายได้และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ตรงกันข้ามกับตัว K ขาลงคือได้รับผลกระทบรุนแรงมาก โดยเฉพาะส่วนรากฐานของระบบสังคม จะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ทั้งทรัพย์สิน รายได้ และความเหลื่อมล้ำทางโอกาส
อีกทั้งวิกฤตครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปีที่เราเห็นแรงงานในวัยทำงานย้ายกลับไปต่างจังหวัด ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งจะเห็นว่า คนย้ายเข้ากรุงเทพฯ เข้าสู่งานในอุตสาหกรรม แต่รอบนี้เศรษฐกิจกระทบหนักมาก คนหลายล้านคนกลับสู่ชนบท นี่เป็นโจทย์สำคัญ เพราะคนส่วนมากไม่มีทางทำงานแบบเดิม รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป กำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้อยู่ในต่างจังหวัดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
ถ้าใช้ตรงนี้เป็นโอกาสสร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิต กลับไปอยู่ต่างจังหวัดได้ ทำให้ชนบทกลับมามีชีวิตอีกครั้งจะเป็นโอกาส เพราะแรงงานจำนวนมากที่กลับไปใช้เทคโนโลยีเป็น มีอายุในระดับที่เรียนรู้ได้ จะช่วยยกระดับภาคเกษตรและคุณภาพสังคมในชนบทได้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้จะยิ่งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง คนที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือคนในชุมชุนเมืองที่ไม่มีต่างจังหวัดให้กลับ เราจะช่วยดูในส่วนนี้อย่างไร
2.รูปแบบการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนหมด โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องพบปะกันซึ่งหมายถึงภาคบริการ แล้วภาคบริการในไทยก็มีสัดส่วนสูงในส่วนของรายได้ประชาชาติหรือ GDP ของประเทศ หลายอุตสาหกรรมจะไม่กลับไปทำธุรกิจแบบเดิม เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ จะไปหวังกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ เหมือนเดิมคงเป็นไปได้ยาก การเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ จะเกิดขึ้น จำนวนคนจะน้อยลงมากขึ้นเพราะต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น มาตรฐานทางสุขอนามัยต้องสูงขึ้น
ในภาคอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนไปมาก รูปแบบการทำงานจะต่างไปจากเดิม ก่อนเกิดสถานกาณ์โควิด-19 มีการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น หุ่นยนต์ทำแทนคนได้ 24 ชั่วโมงแบบไม่ต้องเปิดไฟ เปิดแอร์ ไม่ติดโรค ไม่ต้องคิดถึงการทำ factory isolation รวมถึงการบริการจัดการ supply chain ที่สะดุดจากการระบาดใหญ่ นี่เป็นตัวอย่างการทำธุรกิจที่จะเปลี่ยนไป
3.ต้องเจอความเสี่ยงและความผันผวนรูปแบบใหม่
เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นหัวใจของการบริหารเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ภูมิคุ้มกันกับโรคะบาดจะไม่ใช่แค่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นวิธีการบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจให้น้อยที่สุดด้วย ที่ผ่านมา เราไปให้น้ำหนักเรื่องสาธารณสุขมาก มีการล็อกดาวน์เข้มข้น ผลกระทบกับเศรษฐกิจก็ค่อนข้างแรง แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมามีการระบาดของสายพันธ์อัลฟ่า แต่เราไปให้น้ำหนักทางเศรษฐกิจเสียมาก ไม่มีการล็อกดาวน์ ทำให้การกระบาดรุนแรง ส่งผลกับภาวะทางเศรษฐกิจ การสร้างกลไกจัดการ และการสร้างภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจสำคัญมาก ตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปถึงภาคธุรกิจ
นอกจากโรคระบาดแล้วที่เราพูดถึงกันน้อยมากก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางภูมิอากาศ โลกร้อนเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่มาก นำไปสู่ความผันผวนที่รุนแรง
มีรายงานจากองค์การสหประชาชาติเห็น (UN) ชัดมากว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่รุนแรง กระทบกว้างไกลกว่าที่จะให้กลับไปเป็นแบบเดิม ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่ารุนแรงหลายภูมิภาคทั่วโลก และเมืองไทยอ่อนไหวกับสภาวะอากาศแปรปรวน คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาภาคการเกษตร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติด้วย เรามีแนวชายหาดที่ยาวมาก การที่ระดับน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบเยอะ ตั้งแต่แนวชายฝั่งถูกกัดเซาะไปถึงน้ำทะเลหนุนสูง พวกนี้เป็นผลกว้างไกลที่เราไม่ได้พูดถึง รูปแบบการทำธุกิจก็จะได้รับผลกระทบสูง
4.Digitalization
โควิด-19 ทำให้กระบวนการเป็นดิจิทัลเร็วกว่าเดิมเยอะมาก platform economy มีความสำคัญมากขึ้น เป็น ‘O2O’ หรือออนไลน์ทูออฟไลน์ ที่ต้องผสมผสานเรื่องการบริหารจัดการการขายผ่านทางออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การส่งสินค้าขายของที่เป็นออฟไลน์จริงๆ
การทำงานที่เป็นดิจิทัลแทบจะเกิดขึ้นในทุกธุรกิจ วิธีการใช้ชีวิตของพวกเราก็ด้วย ถ้าไม่มีพร้อมเพย์ ไม่มีการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ชีวิตในช่วงกักตัวก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก การรอบรู้ในเรื่อง digital technology การเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งต้นทุนที่ถูกลง การอาศัยปัญญาประดิษฐ์จะทำได้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันการเงินก็สำคัญมากๆ เราจะอยู่ในโลกที่ผันผวนมากขึ้น ต้องมีเงินออมที่สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเอง จะมีสังคมผู้สูงอายุ คนไทยไม่แต่งงานจำนวนสูงขึ้นมาก เรื่องของความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ
5.จัดการกับการผลิตส่วนเกิน
ต้องหาทางจัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นในหลายๆ ภาคเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต่อไปจะมีธุรกิจจำนวนมากล้มละลาย หรือออกจากธุรกิจ เป็น ‘Bankruptcy’ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และขนาดย่อม มีแนวโน้มที่จะไม่มีรายได้ต่อเนื่องไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย หรืออาจจะมีๆ หายๆ
ตอนแรกเริ่มสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว scenario ที่ใช้กันคือ 6 เดือน หรือ 12 เดือน แต่ถ้าธุรกิจขนาดกลางและย่อมไม่มีรายได้ต่อเนื่อง 2 ปีจะไม่ใช่แค่ปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่เป็นความสามารถในการอยู่รอด ต้องมีกระบวนการจัดการ ทำอย่างไรให้ทรัพย์สินเหล่านี้ หรือหลักประกันที่อยู่กับสถาบันการเงินถูกปรับไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเจ้าของทรัพย์โดยเร็ว ไป พร้อมๆ กับการจัดการ และกำลังการผลิตส่วนเกิน
ยกตัวอย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยว ณ ตอนนี้เป็นเรื่องยากมากที่ไทยจะกลับไปมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนคนต่อปี ธุรกิจในภาคท่องเที่ยวจะเจอปัญหาเรื่อง Zombie Firm ที่ไปกระทบบริษัทอื่นๆ ที่มีความสามารถเก่งกว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เริ่มกระบวนการที่จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการล้มละลาย ช่วยส่งเสริมให้เกิด exit strategy ให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นกับอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับโลกอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยหลายส่วนทั้งกระบวนการทางกฎหมาย การจัดนโยบายภาครัฐ มีแรงจูงใจที่เหมาะสม กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทในการทำงานและคัดกรอง เป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก
6.เศรษฐกิจในอนาคต เมื่อโควิด-19 เปลี่ยนเป็น ‘Endemic’
เมื่อการระบาดใหญ่สิ้นสุด ภาครัฐจะได้รับความคาดหวังว่า ต้องมีบทบาทในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เป็นบทบาทที่รัฐต้องทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะทรัพยากรภาครัฐจะน้อยลงมากเมื่อผ่านไป 2-3 ปี ฐานะทางการคลังของรัฐอ่อนแอลงมากจากการกู้เงินและออกนโยบายเยียวยา ไปพร้อมๆ กับการแบกภาระค่าใช้จ่ายงานด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบและจะมีแผลเป็นระยะยาว รัฐต้องดูแลต่อเนื่อง รัฐจะต้องทำงานมากขึ้นแต่มีทรัพยากรน้อยลง นั่นแปลว่ารัฐต้องเก่งกว่าเดิมมาก ถ้าไม่เก่งกว่าเดิมจะมีปัญหาเรื่องวิกฤตการคลังในอนาคต เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาการปรับตัว แปลงร่างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมได้ ต้องคิดอย่างจริงจังว่า งบภาครัฐจะบริหารจัดการอย่างไร
ระบบราชการช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความเทอะทะมากขึ้นเยอะ กฎเกณฑ์หลายอย่างทำให้ระบบราชการภาครัฐโดยรวมใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจ ต้องกลับมาทบทวนว่า รัฐจะทำอย่างไรต่อไป บางอย่างที่เอกชนทำได้ดีกว่าภาครัฐยังต้องทำอยู่ไหม รัฐอาจจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุน ตรวจสอบเป็น facilittor เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับเอกชน เพราะหลายเรื่องรัฐทำแล้วทำได้ไม่ดี ถ้ามีกลไกเอกชนหรือภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิกฤตเศรษฐกิจจะนำไปสู่ ‘หนี้’ ที่คนไทยต้องแบกรับ
นอกจากคลื่นทั้ง 6 ลูกที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอนาคตแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคตอันใกล้ ก็คือวิกฤตทางการเงินจากภาวะหนี้เสียที่สูงขึ้น ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ชี้ให้เห็นว่า หนี้เสียจะเป็นปัญหาใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 จะพบว่า จนถึงปัจจุบัน หนี้เสียบางส่วนเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งยังต้องแก้ไขกันต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ด้วยซ้ำ และเพื่อบรรเทาปัญหาในส่วนนี้ การแก้ไขระยะยาวจึงต้องให้น้ำหนักไปที่ตัวบทกฎหมาย ที่ทางคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนกำลังดำเนินการอยู่
“ปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ใหญ่กว่าปี 2540 มาก ทั้งในแง่คนได้รับผลกระทบที่ลงไปถึงคนรากหญ้ามากกว่า การออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบางสิ่งบางอย่าง เป็นสิ่งจำเป็นแต่กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือที่จะทำให้มันหายไป เพียงแต่ช่วยให้ลดระยะเวลาในการแก้ปัญหาลง หรือบางสิ่งที่แข็งกระด้างก็ต้องมีการปรับ อย่างเรื่องอนุมัติอนุญาตแบบเดิม ในขณะที่ไม่มีโควิด-19 เราอาจจะยังไม่รู้สึกว่ากฎหมายล้าสมัย แต่ปัจจุบันเรื่องการอนุมัติยาก็มีประเด็นพวกนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องหนี้มีความใกล้เคียงกันกับปี 2540
“เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นและเป็นวงกว้าง จำนวนหนี้เสียจะสูงขึ้นมาก ทำให้ตัวหนี้เสียกลายเป็นปัญหาใหญ่ของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ความยากลำบากต่างจากคราวที่แล้วมาก ถ้ามองดูสภาพปัจจุบันแล้วคิดว่าหนี้เสียคงเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก และปัญหาที่มองเห็นอีกอย่างคือ ไม่แน่ใจว่าเราจะผ่านช่วงระบาดใหญ่ไปถึง Endemic กันตอนไหน นี่เป็นปัญหาเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจ
“อีกส่วน คือธุรกิจ SMEs ที่มีหนี้ตั้งแต่ 5 ล้าน 10 ล้าน ไปจนถึง 50 ล้าน มีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งเพื่ออนาคตและเพื่อรอระยะเวลาบางอย่าง เพราะเราไม่แน่ใจว่า โควิด-19 จะเปลี่ยนไปเมื่อไร เราเสนอให้เอากลไกปรับโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูกิจการธุรกิจที่มีเม็ดเงินไม่ถึง 50 ล้านบาท ให้เขาไป เจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ได้ ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ไม่ได้มีความซับซ้อนเหมือนกิจการขนาดใหญ่ ข้อเสนอส่วนนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และน่าจะผลักดันให้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้ได้
“อีกข้อคือในการเจรจาหนี้ บางทีส่งฟ้องไปแล้วยังเจรจากันอยู่ แต่มีการเจรจาจำนวนมากที่ฝ่ายเจ้าหนี้ และลูกหนี้ไปเจรจาตอนแพ้-ชนะคดีแล้ว นำไปสู่การยึดทรัพย์ และถ้าเจรจากันได้ทีหลังปัญหาปัจจุบันคือ หากมีการบังคับคดีไปแล้ว แม้ว่าจะมีการถอนการยึดทรัพย์จากฝ่ายลูกหนี้ สุดท้ายลูกหนี้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมตรงนี้อยู่ที่ร้อยละ 2 ถ้าเราสามารถลดปัญหาค่าธรรมเนียมส่วนนี้ได้ ก็จะช่วยส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศเรื่องการลดค่าธรรมเนียมของรัฐด้วย ข้อนี้ได้มีการยกร่าง สอบถามความเห็นของภาคส่วน จำนวนมากเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และเชื่อว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้โดยเร็ว”
แก้กฎหมายเปิดทางต่างชาติ – ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศหลังโควิด-19
ด้านศาสตราจารย์พิเศษกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อธิบายต่อเนื่องถึงการแก้ไขกฎหมายนอกเหนือจากส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ว่า สิ่งที่ต้องมองข้ามช็อตไปถึงช่วง Endemic ก็คือ การหารายได้เข้าประเทศ โดยทางคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน มีการเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ อย่างการออกวีซ่าพิเศษให้กับชาวต่างชาติที่มี 4 ทักษะสำคัญที่เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมไทย คนวัยเกษียณ และคนที่มีความมั่งคั่ง ในวันที่ประเทศไทยไม่อาจฝากความหวังไว้กับจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวสำคัญได้แล้ว เราจะทำอย่างไรเพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้าประเทศได้
“เรื่องที่เราเสนอไปเป็นเรื่องเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ส่วนของการส่งเสริมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เสนอให้มีการออกวีซ่าชนิดพิเศษให้นักลงทุนต่างชาติ แบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือมีความมั่งคั่งสูง คนวัยเกษียณ อยากทำงานที่ไหนก็ได้หรือ ‘work from anywhere’ และมีทักษะที่สอดรับกับอุตสาหกรรมหลัก 4 อย่างที่รัฐบาลส่งเสริม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า ดิจิทัล และการแพทย์
“ถ้ากำหนดกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีทักษะ มีรายได้ที่มั่นคงเข้ามาในไทยสัก 1 ล้านคน ให้เขาอยู่ไทยได้สะดวกสบายในอัตราภาษีที่แข่งขันได้จะมีการใช้จ่ายในประเทศสูงถึง 1 แสนล้านบาท คนกลุ่มนี้จะเข้ามาใช้จ่าย ต้องมาซื้อคอนโด เช่าโรงแรม มีที่พักในไทยระยะยาว แต่ประเด็นนี้ค่อนข้างเซ้นซิทีฟ มาพร้อมสิทธิ์ซื้อทรัพย์สินในไทย แต่การให้เช่าหรือขายทรัพย์สิน ที่ดิน หรือบ้านจัดสรรมีกำหนดเเงื่อนไขอยู่แล้วไม่ใช่เสรี ให้ทำ 5 ปีเท่านั้นเอง ถ้าเป็นผลดีก็ดำเนินการต่อ ถ้าไม่ก็ยกเลิก นี่คือสิ่งที่คาดว่าจะเกิดเพราะเชื่อว่ากระแสเงินเป็นสิ่งสำคัญ”
นี่คือสรุปประเด็นสำคัญจากวงเสวนาคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯ ต้องการรับฟังความเห็นจากประชาชนสำหรับการยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย
สามารถร่วมให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น และติชมได้ทาง Official Line account @UrgentLawReform หรือ
คลิก https://lin.ee/xfnVRBV
และเข้าไปตอบแบบสำรวจกันได้ที่ : https://docs.google.com/…/1FAIpQLSe6ml6fK8rbu8…/viewform