(16 ธันวาคม 2565) สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดการประชุมบูรณาการและขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมีนายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่าสาเหตุของความขัดแย้ง นอกจากเกิดจากปัญหาทางการเมืองแล้ว อาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของคนในสังคม และความเข้าไม่ถึง ดังนั้น การจัดการปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในสังคม และความสามัคคีปรองดองเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดผลโดยในการประชุมได้มีการบรรยายหัวข้อที่เกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
- การรายงานผลการศึกษาโครงการขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ตามรายการค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สินเดชารักษ์ หัวหน้าโครงการฯ สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นความขัดแย้งในปัจจุบัน สาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง และแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ได้จากการศึกษา ทบทวนวรรณกรรม การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น
- นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ด้านการสร้างความปรองดอง โดย นายธีรภัทร จุนทการ ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยได้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งยังได้ถ่ายทอดต้นแบบนโยบาย “การสร้างกลไก พื้นที่ เวที หรือ Platform การเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อการพัฒนาประเทศ” ซึ่งเป็นผลงานจากหลักสูตร ป.ย.ป. อีกด้วย
- การยกเลิกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดย นายแพทย์ธงธน เพิ่มบถศรี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชํานาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อํานวยการกอง 2 ที่ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ต้องการลดความซ้ำซ้อนในภารกิจของหน่วยงานของรัฐ โดยในระยะถัดไปสำนักงาน ป.ย.ป. จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติต่อไป
- การนําเสนอข้อเสนอที่ระบุแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ หนุนภักดี นักวิจัยในโครงการฯ สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้นำเสนอข้อเสนอการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยแบ่งออกเป็นยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความปรองดองในทันที 2) ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมทัศนคติที่จำเป็นต่อความปรองดอง 3) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปเชิงสถาบันเพื่อสร้างความปรองดอง และ 4) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อสร้างความปรองดอง
ในช่วงท้ายของการประชุมได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ตั้งประเด็นสอบถามและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน