สำนักงาน ป.ย.ป. จัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อน นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม .2567 สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดการประชุมเพื่อจัดทำฉากทัศน์อนาคตเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อระดมความเห็นภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดกรอบหรือทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ณ โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ โดยมีนางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นประธานการประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. และผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ จํานวน 39 คน

ในการประชุมดังกล่าว ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยเห็นว่าปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อน คือความชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ รวมถึงมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ โดยการขับเคลื่อนนโยบายจะเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็น Playmaker ส่วนหน่วยงานของรัฐจะเป็น Facilitator สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายอาจไม่ได้จำกัดเพียง 11 อุตสาหกรรมเท่านั้น นอกจากนี้ยังเห็นควรมีการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบประเด็นในการจัดทำฉากทัศน์เพื่อใช้เป็นกรอบหรือทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมพัฒนาต้นแบบนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยผ่านกระบวนการ Design Thinking เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นต้นแบบนโยบายดังกล่าว และเครื่องมือ Foresight ซึ่งต้องดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสังเคราะห์หาสัญญาณ แนวโน้ม และปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทยและต่างประเทศ รวมถึงมุมมองของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย เพื่อจัดทำภาพอนาคตในมิติที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดการขับเคลื่อนโยบายสู่การปฏิบัติ ต่อไป

Messenger
Skip to content