สำนักงาน ป.ย.ป.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS Workshop)

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 สำนักงานขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS Workshop) ณ ห้องเจ้าพระยา บอลรูม โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท โดยมี นายแพทย์สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ และ ดร.ชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.พร้อมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ทั้ง 11 ด้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการหารือการพัฒนาหลักสูตร OFOS เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยสาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ ดังนี้

ดร.ชุติมา  หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน OFOS Workshop เพื่อเป็นเวทีหารือการพัฒนาหลักสูตร OFOS ของแต่ละด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 ด้านให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชน นำไปสู่การจับคู่งาน หรือ Job Matching ตลอดจนเพื่อแนะนำแนวทางการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและระบบคลังหน่วยกิตซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (National Soft Power Credit Bank) มุ่งสู่การสร้างหลักสูตร OFOS ที่มีคุณภาพต่อไป

นายแพทย์สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี กล่าวถึงหลักสูตร OFOS นโยบายที่จะเปลี่ยนประเทศไทยโดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ มี 2 ประการ ได้แก่

1. ต้องการสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถนำพาประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนา โดยการเพิ่มทักษะฝีมือของแรงงานภายในประเทศผ่านซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่สูงขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
2. เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดจำนวนคนยากจนภายในประเทศ และยกตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก อาทิ อาหารไทย และกีฬามวยไทย เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาทักษะของประชาชนจึงเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน ประกอบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะทำงานจัดการศึกษาหลักสูตร 1 ครอบครัว 1 ทักษะ
ซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวถึงการจัดทำซอฟต์พาวเวอร์คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Soft Power Credit Bank) เพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ และเมื่อผู้เรียนสำเร็จหลักสูตรสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตฯ ได้ตลอดชีวิตเพื่อต่อยอดการเรียนรู้สู่ระดับที่สูงกว่าต่อไป ดังนั้น การขับเคลื่อนหลักสูตร OFOS จึงเป็นโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตครั้งใหญ่ และไร้รอยต่อ

ดร.ศุภฤกษ์  ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวถึงการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS โดยสำนักงาน ป.ย.ป. ได้สำรวจหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานภาครัฐที่สอดคล้องกับ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ได้ให้ความสนใจหลักสูตรฝึกอบรม พร้อมรวบรวมหลักสูตรที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ จัดทำขึ้น จำนวนรวมทั้งสิ้น 225 หลักสูตร และสำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดทำการสร้างระบบนิเวศรองรับหลักสูตร OFOS หรือ OFOS Ecosystem เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) เป็นไปอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดตัวระบบลงทะเบียนระบบ OFOS ตามนโยบายสร้างคน ยกระดับศักยภาพ สร้างสรรค์ให้คนไทย มีทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ โดยมีกำหนดการเริ่มลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ภายในงาน THACCA SPLASH: Soft Power Forum 2024 ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 46 อุตสาหกรรม โดยกว่าครึ่งมี
ความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ผ่าน 77 สภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 16,000 บริษัท ก้าวไปสู่เป้าหมายการสร้างคุณค่าซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างยั่งยืน

ดร.วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธาน หอการค้าไทย กล่าวในประเด็นความร่วมมือเพื่อคุณภาพสู่ระบบซอฟต์พาวเวอร์คลังหน่วยกิตแห่งชาติ โดยระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอันดับ Global Soft Power Index 2024 ที่ 40 จากการจัดลำดับทั้งสิ้น 193 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ด้วยคะแนน 44.8 คะแนน โดยมองว่าการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์การขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนผ่าน 8 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ภาคธุรกิจและการค้า การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม การสื่อสาร การศึกษาและวิทยาศาสตร์ ประชาชนและค่านิยม เพื่อนำไปสู่ปัจจัยสุดท้ายคือ “อนาคตอันยั่งยืน”

 

 

Messenger
Skip to content