สำนักงาน ป.ย.ป. จัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อม ให้กับผู้เข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปี 2566 เพื่อการขับเคลื่อนโจทย์หัวข้อการบูรณาการ ภายใต้กระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมการเตรียมความพร้อม ให้แก่ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปี 2566 เพื่อการขับเคลื่อนโจทย์หัวข้อการบูรณาการ ภายใต้กระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย ณ ห้องประชุมสำนักงาน ก.พ.ร. ศูนย์ราชการ ฯ แจ้งวัฒนะ และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting) โดยมีผู้เข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป. 2 – 4 จาก 11 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กระทรวงศึกษาธิการ 2) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4) กระทรวงสาธารณสุข 5) กระทรวงยุติธรรม 6) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 7) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 8) กระทรวงกลาโหม 9) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 10) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 11) กระทรวงมหาดไทย และ 12) สำนักงาน ป.ย.ป. ที่จะร่วมขับเคลื่อน หัวข้อ “การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการมีงานทำ” และหัวข้อ “การลดจำนวนผู้เสพยาเสพติด โดยใช้การบำบัดรักษาโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อกลับคืนสังคมแบบมีคุณค่า และการเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดวงจรอาชญากรรม”

ในช่วงแรก หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สํานักงาน ก.พ.ร. กล่าวสรุปภาพรวมนโยบายการขับเคลื่อนโจทย์บูรณาการของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) และ ป.ย.ป. 1 และ ผศ. ดร. ธนพล วีรา ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมและโครงการพิเศษ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอกรณีศึกษา (Case Studies) ของการพัฒนานโยบายของรัฐ ภายใต้กระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation Lab) และชี้แจงหลักการ แนวคิด สมรรถนะ และแนวทางขับเคลื่อนโจทย์นโยบายภายใต้กระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย ตามแนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มโจทย์การประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยผู้เข้าร่วมหลักสูตรฯ ระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน เช่น การกำหนดพื้นที่ การกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนอื่น ๆ และแผนการดำเนินการ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ ป.ย.ป. 2 ได้แก่ รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า ทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ป.ย.ป. 3 ได้แก่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับพื้นที่ ทั้งในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และ ป.ย.ป. 4 ได้แก่ ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการบูรณาการที่ต้องการขับเคลื่อน โดยเป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไปบูรณาการงานและนําไปสู่การปฏิบัติ เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Messenger
Skip to content