วันพุธที่ 22 มีนาคม 2566 นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. และนางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการกอง 3 ร่วมชี้แจงภาพรวมหลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า (ป.ย.ป. 1) ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ZOOM) โดยรูปแบบของหลักสูตร ป.ย.ป. จะเป็นลักษณะของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) ซึ่งใช้กลไกผ่านรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า (ป.ย.ป. 2) เจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับพื้นที่ ทั้งในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (ป.ย.ป. 3) และข้าราชการคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการบูรณาการที่ต้องการขับเคลื่อน (ป.ย.ป. 4) ในการขับเคลื่อนโจทย์บูรณาการตลอดหลักสูตร ป.ย.ป.
สำหรับหลักสูตร ป.ย.ป. เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation Lab) ที่ประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ผ่านกระบวนการพัฒนานวัตกรรมที่ยึดประชาชนหรือผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การแสดงความคิดเห็น การออกแบบต้นแบบนวัตกรรม และทดสอบต้นแบบก่อนนำไปขยายผลในพื้นที่นำร่องให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และสำนักงาน ป.ย.ป. คาดหวังว่าการจัดหลักสูตรฯ จะสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงบูรณาการ พร้อมกับการมุ่งปรับและขยายกระบวนการทางความคิด (Mindset) ของผู้เข้าร่วมอบรมให้เป็นกำลังสำคัญของหน่วยงานราชการ รวมถึงสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสมรรถนะการทำงานแบบบูรณาการโดยยึดเป้าหมายเป็นที่ตั้ง (Goal-Oriented) โดยการพัฒนาทักษะสมรรถนะข้าราชการเพื่อพร้อมนำการเปลี่ยนแปลง และเป็นข้าราชการแห่งศตวรรษที่ 21
โดยในปี 2566 มีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า (ป.ย.ป. 1) เข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป. จำนวน 20 ราย ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.
ทั้งนี้ ป.ย.ป. 1 จะกำหนดโจทย์บูรณาการที่จะขับเคลื่อน และมอบหมายเจ้าหน้าที่นำไปศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาต้นแบบนโยบาย เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป