สำนักงาน ป.ย.ป. จุดประกายความร่วมมือ สร้างสังคมปรองดองยั่งยืน

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สานพลังความร่วมมือ สู่สังคมปรองดองยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) ถนนเมืองสมุทร ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงออกผ่านผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ มุ่งสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความสามัคคีปรองดองของประเทศ

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างการรับรู้แก่สังคมกับบทบาทของสำนักงาน ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนการเปิดเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสะท้อนมุมมองและความเห็นที่มีต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง ผ่านผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ โดยไม่จำกัดเทคนิคการนำเสนอ เพื่อส่งเสริมการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของชาติ

ในการนี้ นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) มอบหมายให้ ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยาย เรื่อง บทบาทของสำนักงาน ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนแนวทางตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยมีสรุปเนื้อหาการบรรยาย ดังนี้

สำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มีสถานะเทียบเท่ากรม ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการเป็นหน่วยงานกลางประสานและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ย.ป. ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทอันโดดเด่นในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหา เช่น การจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านการประสานงานระหว่างหน่วยงานในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด และในปี พ.ศ. 2567 สำนักงาน ป.ย.ป. ยังได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล หรือ “วัฒนธรรมสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

“สำนักงาน ป.ย.ป. มุ่งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ผ่านการศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” ดร.ศุภฤกษ์กล่าว

ทั้งนี้ ในอนาคตสำนักงาน ป.ย.ป. จะยังคงเดินหน้าต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ  เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเฉพาะความขัดแย้งหรือความไม่ปรองดองที่เกิดจากการดำเนินนโยบายหรือการโครงการภาครัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผ่านการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการตรวจสอบ
การดำเนินงานของภาครัฐ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่สามัคคีและเข้มแข็งต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายในหัวข้อที่สำคัญ เรื่อง “บทบาทของผู้นำในการสร้างสังคมแห่งความปรองดองยั่งยืน” โดยมีผู้แทนคนรุ่นใหม่เข้าร่วม ได้แก่ นายนนท์ปวิธ ฐานพัฒน์ภาคิน เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ ปกครองจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวลักขณา เหียง เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน นายสุภชัย อุดคำ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่

นายนนท์ปวิธ ฐานพัฒน์ภาคิน เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ  กล่าวถึงบทบาทและประสบการณ์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปกครองรุ่นใหม่ ได้กล่าวถึงความท้าทายในการเป็นผู้นำหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องเผชิญปัญหาความเชื่อมั่นจากชุมชนเนื่องจากอายุยังน้อย ทำให้การได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาและชาวบ้านเป็นเรื่องที่ท้าทาย ดังนั้นบทบาทของตนเองในฐานะผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อสร้างความปรองดองในท้องถิ่น จึงต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจและแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

นางสาวลักขณา เหียง เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน  กล่าวถึงบทบาทการเป็นผู้นำชุมชนในฐานะสตรีและการปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้หญิงในชนเผ่า ซึ่งผู้หญิงไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญจึงสร้างการยอมรับในฐานะผู้นำผ่านการพัฒนากลุ่มสตรีในชุมชน โดยเฉพาะด้านการทอผ้าและสร้างแบรนด์เสื้อผ้า “ปางแดงใน” นางสาวลักขณา เหียง เน้นย้ำว่าการเป็นผู้นำไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศหรืออายุ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถ
ในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ตนเองได้รับการยอมรับมากขึ้น ชุมชนก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาชุมชนอันเป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

นายสุภชัย อุดคำ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทและประสบการณ์ ในฐานะตัวแทนเยาวชน ได้พูดถึงบทบาทของเยาวชนในการเป็นผู้นำ โดยเน้นว่าผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงผู้ใหญ่ แต่เยาวชนก็สามารถเป็นผู้นำได้เช่นกัน และกล่าวถึงกระบวนการที่สภาเด็กและเยาวชนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสนอโครงการของตนเอง ซึ่งจากความหลากหลายทางความคิดดังกล่าว บ่อยครั้งมักเกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และได้เน้นถึงการแก้ไขความขัดแย้งผ่านการกระบวนการละลายพฤติกรรม (Ice Breaking) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวช่วยให้คนเห็นต่างได้ทำความรู้จักและเปิดใจกัน ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

ในช่วงบ่ายมีการ  อภิปราย เรื่อง การพัฒนากฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดย ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายบัณรส บัวคลี่ ผู้แทนเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

นายบัณรส บัวคลี่ ผู้แทนเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะในการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็น การทำงานในสภาลมหายใจภาคเหนือที่เน้นการแก้ปัญหามลพิษและฝุ่นควัน และบทบาทสำคัญของประชาชนในกระบวนการนี้         นายบัณรส บัวคลี่ ชื่นชมความยืดหยุ่นของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้ประชาชนสามารถร่วมออกแบบกฎหมายในทิศทางที่เหมาะสมกับปัญหาที่แท้จริง

อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นในเชิงวิชาการเกี่ยวกับความขัดแย้งและการแก้ไขความไม่ปรองดองในสังคม โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการแยกประเด็นระหว่าง “ความขัดแย้ง” และ “การสร้างความปรองดอง” อธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งมีสาเหตุที่เกิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ระบบ/โครงสร้างทางสังคม 2.วิธีการสื่อสาร การทำงานหรือกลไกภาครัฐ โดยเฉพาะการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งทางสังคม และ 3.ทัศนคติ ความเชื่อของบุคคล ดังนั้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและมีข้อมูลที่ถูกต้องร่วมกัน

ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวถึงภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่มุ่งเน้นในการสร้างความสามัคคีและความปรองดองในสังคม โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความปรองดองยกตัวอย่างการพัฒนากฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด ซึ่งเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ย.ป. ยังได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
ผ่านระบบ Line@ ที่มีชื่อว่า “เสนอแนะข้างทําเนียบ”  หรือ @thaivoice ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และสามารถส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทางนโยบาย เพื่อให้สำนักงาน ป.ย.ป. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นำความเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงหรือพัฒนาการทำงานได้โดยตรง

สรุปส่งท้าย: ความสำคัญของสำนักงาน ป.ย.ป. ในการสร้างสังคมที่ปรองดองและยั่งยืน

สำนักงาน ป.ย.ป. ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ความสำเร็จของสำนักงาน ป.ย.ป. ไม่เพียงอยู่ที่การผลักดันกฎหมายที่มีคุณภาพเท่านั้นแต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความสามัคคีปรองดองในสังคมผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง และการทำงานที่ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เน้นการทำงานที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญ
ตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น การทำงานของสำนักงาน ป.ย.ป. จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งการปฏิรูปประเทศที่เป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

 

แชร์ข่าวนี้

ข่าวอื่น ๆ

Messenger
Skip to content