สำนักงาน ป.ย.ป. นำคณะกรรมการพิจารณาและตรวจประเมินรางวัลรางวัลเลิศรัฐฯ ประเภทร่วมใจแก้จน ตรวจประเมินผลงาน “วิสาหกิจชุมชนอำเภอสะบ้าย้อยยกระดับกาแฟโรบัสต้าแก้จน คนชายแดนใต้อย่างยั่งยืน” โดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และคณะกรรมการพิจารณาและตรวจประเมินรางวัลฯ ได้ตรวจประเมินผลงานในขั้นตอนที่ 2 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาผลงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีสิทธิได้รับรางวัลในระดับดีเด่น โดยมีนางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยกอง 3 รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. รองประธานกรรมการพิจารณาและตรวจประเมินรางวัลฯ นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย อนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพภาครัฐ นางพัชรี สิโรรส อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางคีตยา ฮูเวอร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการฯ ตรวจประเมินผลงาน “วิสาหกิจชุมชนอำเภอสะบ้าย้อยยกระดับกาแฟโรบัสต้าแก้จน คนชายแดนใต้อย่างยั่งยืน” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร

ที่ 5 จังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการในอำเภอสะบ้าย้อย เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอสะบ้าย้อย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟอำเภอสะบ้าย้อย ได้ร่วมให้ข้อมูล และนำเสนอวีดิทัศน์ และผลงานของวิสาหกิจชุมชนอำเภอสะบ้าย้อยยกระดับกาแฟโรบัสต้าแก้จน คนชายแดนใต้อย่างยั่งยืน ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วม การบริหารจัดการและการวางแผนการทำงานของกลุ่มฯ การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก “กาแฟโรบัสต้าถ้ำคอก” ให้เป็นกาแฟอัตลักษณ์ประจำถิ่น ด้วยแนวคิดในการเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรกรรมให้เป็น “เกษตรผสมผสาน” เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ลดการพึ่งพารายได้จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เตรียมความพร้อมให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกระดับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ผลิตเมล็ดกาแฟโรบัสตาชั้นเยี่ยม สร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงการทำงานของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านการศึกษาวิจัยต่อยอดและขยายผลพร้อมติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดการประกอบอาชีพที่มั่นคงและพ้นขีดความยากจนของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ซักถามประเด็นข้อสงสัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประธานกลุ่มฯ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

Messenger
Skip to content