เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สำนักงาน ป.ย.ป. ในฐานะอนุกรรมการและฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ คณะที่ 3 ได้จัดประชุมหารือแนวทางการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ
โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุม นายปภณ โชคธนวณิชย์ ผู้อำนวยการกอง 2 นายอุดมรัตน์ นิ่มเซียน นายสัตวแพทย์อาวุโส เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่กรมประมง เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ย.ป. เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
ที่ประชุมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลและความเห็นต่อกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ดังนี้
01 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการแจ้ง การรับแจ้ง และการนำผ่าน สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้สัตว์ป่าควบคุม รวมทั้งซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว พ.ศ. 2566
ขั้นตอนโดยสรุป : กรณีนำผ่านสิ่งของต้องห้ามต้องแจ้งการนำผ่านล่วงหน้า 20 วัน (ใช้ระบบจดแจ้ง) โดยสามารถนำส่งข้อมูลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนเเล้ว จะต้องนำผ่านสิ่งของออกจากราชอาณาจักร ภายใน 7 วั
02 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 และประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์การนำผ่านสัตว์น้ำฯ 2561
ขั้นตอนโดยสรุป : การนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องดำเนินการตาม มาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดฯ โดยต้องแสดงใบรับรองหรือเอกสารที่แสดงว่าเป็นการได้มาจากการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (ใช้ระบบจดเเจ้ง) และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการตามประกาศกรมประมงหลักเกณฑ์การนำผ่านสัตว์น้ำฯ 2561 กำหนด ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาภายใน 6 ชั่วโมง (กำหนดในคู่มือประชาชน)
03 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
ขั้นตอนโดยสรุป : การนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์ตาม มาตรา 8 (ซึ่งได้กำหนดชนิดตามหลักสากลที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC กำหนดแล้ว) ต้องขออนุญาตในการนำผ่าน (ใช้ระบบอนุญาต) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคระบาดมีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และควรจัดพระราชบัญญัติฉบับนี้ในกฎหมายกลุ่มที่ 3 (กฎหมายสิ่งอันตรายและควบคุมเด็ดขาด) โดยมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและนำสิ่งของออกจากราชอาณาจักร ภายใน 5 วัน
ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวการถ่ายลำต่อไป