สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้จัด การประชุมสัมมนาทางวิชาการ “The Future of Legal Transformation 2022 ปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม” เพื่อสร้างการรับรู้ผลการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในประเด็นสำคัญเร่งด่วนตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและการระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางและกรอบแนวทางการปฏิรูปกฎหมายต่อไปในอนาคต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม GOLDEN TULIP SOVEREIGN HOTEL BANGKOK
การสัมมนาช่วงเช้าได้มีการกล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป ถึงผลงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนของสำนักงาน ป.ย.ป. ที่ได้ศึกษา วิเคราะห์ และมีข้อเสนอแนะในการปฏิรูปกฎหมายที่มีความสำคัญระยะเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็น “การปลดล็อกการนำเข้าชุดตรวจ ATK โดยผู้ประกอบการในช่วงที่ประเทศประสบกับภาวะการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” “การผ่อนปรนให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารมีระยะเวลาดำเนินการมากขึ้นโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ ในช่วงที่ขาดแคลนแรงงานหรือปิดสถานประกอบการชั่วคราว รวมถึงการยกเลิก” และหัวข้อสำคัญคือ “การยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นภาระต่อประชาชน” จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูปกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ของประเทศไทยในอนาคต” โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน พร้อมทั้งมีการจัดกิจกรรม Workshop เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานแสดงความเห็นร่วมกันในประเด็นการปรับปรุงข้อจำกัดในการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย ซึ่งผลโหวต พบว่า ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ข้าราชการพลเรือนที่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย โดยไม่ได้กระทำการทุจริต ยังสามารถดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ใช้วิธีการบริหาร ในการจัดให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสม
สำหรับการสัมมนาช่วงบ่ายได้มีกิจกรรมเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิรูปกฎหมายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจากหลากหลายสาขา ดังนี้
ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ Legal Reforms for Better Society นำโดย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ไขปัญหาสังคม โดยมี นางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการกอง 3 รักษา ราชการแทนผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นผู้ดำเนินรายการ ในการเสวนาช่วงดังกล่าว วิทยากรได้ให้ความรู้และข้อเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในอนาคต เพื่อมุ่งสู่ Better Society โดยต้องปฏิรูปคนควบคู่กับปฏิรูปกฎหมาย ดำเนินการลดและเพิ่มกฎหมายเท่าที่จำเป็น เอาชนะระบบราชการเดิม โดยใช้การทดลองหรือเรียกว่า Sandbox ที่เน้นหลักการ Agility มีขนาดเล็ก ไม่เทอะทะ คล่องตัว ผ่านการบูรณาการความร่วมมือ และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน ภายใต้หลักแนวคิดการปฏิรูปสังคมไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่เป็นการทำให้ผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในสังคมได้มีโอกาส มีขีดความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้
ช่วงที่ 2 ในหัวข้อ Unlocking Economic Potentials นำโดย ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) โดยมี นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรม รักษาราชการแทนรองผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นผู้ดำเนินรายการ ในการเสวนาช่วงดังกล่าว วิทยากรได้ให้ความรู้และข้อเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูปกฎหมายเพื่อลดข้อจำกัด เพิ่มขีดความสามารถ โดยใช้ 2 หลักการ คือ การสร้างเจตจำนงด้านการเมืองเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และการสร้างกลไกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย ผ่านการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อหาวิธีทบทวนกฎหมายที่มีประสิทธิผล โดยในอนาคตประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะครอบคลุมการทำนิติกรรมสัญญา การแสดง-พิสูจน์-ยืนยัน ตัวตน การลงนาม และมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงมีการพัฒนามาตรฐานหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นผู้ขับเคลื่อน
สำนักงาน ป.ย.ป. จะได้นำความคิดเห็นที่ได้จากการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ไปประมวลผลเพื่อกำหนดทิศทางและกรอบแนวทางการปฏิรูปกฎหมายต่อไปในอนาคต ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นแรงผลักดัน การปฏิรูปกฎหมายตามแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป