สำนักงาน ป.ย.ป. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อส่งเสริมการบูรณาการต่อยอดการพัฒนาชุมชน ณ ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

                   เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรานี  อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการกอง 3 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) พร้อมคณะข้าราชการสำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.)   จัดกิจกรรมการเก็บข้อมูลและการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการสร้างต้นแบบนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่นำร่องจังหวัดเชียงราย ณ ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเป็นการต่อยอดโครงการที่สำนักงานฯ ได้ริเริ่มไว้กับจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ความร่วมมือชะงักลงชั่วคราว อย่างไรก็ดี ทางตำบลได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนประสบความสำเร็จเป็นโครงการ “ดอยงาม 100% : ตำบลเข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยศาสตร์พระราชา” ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมถึงมีการเก็บข้อมูลศึกษากระบวนการพัฒนาของพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ โดยมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวผลการดำเนินการและสถานะปัจจุบันของโครงการ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อจัดทำแผนต่อยอดการพัฒนาชุมชนแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนต่อไป  

                   ผลจากการเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย คณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ย.ป.และ สอวช. พัฒนาชุมชนจังหวัด พัฒนาชุมชนอำเภอพาน พัฒนาการตำบลดอยงาม ผู้นำกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข  คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่ากระบวนการพัฒนาตำบลดอยงาม มีการขับเคลื่อน 4 กิจกรรมหลักในพื้นที่ตำบลดอยงาม ได้แก่ การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเต็มพื้นที่ การเพิ่มรายได้ด้วยการบริหารการตลาดที่ทันสมัย การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า และการสร้างชุมชนเข้มแข็งผ่านกระบวนการชุมชน สำหรับปัญหาที่พบในพื้นที่เบื้องต้น ได้แก่ ปัญหาการใช้สารเคมีในพื้นที่ สมาชิกในชุมชนยังขาดความรู้เข้าใจเกี่ยวกับการสร้างการตลาด เป็นต้น 

                   ในช่วงบ่ายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ตัวแทนกลุ่มอาชีพยังได้พาคณะผู้ทำงานเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ณ บ้านผู้นำกลุ่มอาชีพใช้ชื่อกลุ่ม “หอมแผ่นดิน” โดยมีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ได้มีการวางระบบครบถ้วนทั้งกระบวนการตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด ได้แก่ พรมเช็ดเท้า ข้าวเหนียวดำ ข้าวญี่ปุ่น เป็นต้น

                   อนึ่ง การดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่นำร่องตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ ซึ่งสำนักงาน ป.ย.ป. ได้ว่าจ้าง สอวช. เป็นที่ปรึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ในพื้นที่นำร่องจำนวน 3 พื้นที่ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสกลนคร

Messenger
Skip to content