สำนักงาน ป.ย.ป. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 เวลา 13.30 น. นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และนางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานการประชุม ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการรายงานผลการจัดงานเทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 (Maha Songkran World Water Festival 2024) ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันเทศกาลสงกรานต์ของไทยให้ติด 1 ใน 10 เฟสติวัลของโลก นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของอุตสาหกรรมเฟสติวัล กีฬา และเกม รวมถึงความคืบหน้าในการจัดงาน SPLASH ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานอีเว้นที่สำคัญในการผลักดันวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีโลก
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ย.ป. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ได้รายงานความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power หรือ OFOS) ซึ่งเป็นโครงการอบรมครั้งใหญ่ของประเทศเพื่อ Upskill & Reskill เพื่อพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ของคนไทยให้สามารถต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับซอฟต์พาวเวอร์สู่ตลาดโลก โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนอบรมทั้ง 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางออนไลน์ (ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น) และช่องทางออฟไลน์ โดยผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก THACCA
ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาโครงการและแผนงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของ 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายในปีงบประมาณ 2567 ตามที่ สำนักงาน ป.ย.ป. เสนอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้มีการทบทวนกรอบวงเงินและรายละเอียดโครงการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

แชร์ข่าวนี้

ข่าวอื่น ๆ

Messenger
Skip to content