สำนักงาน ป.ย.ป. เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือร่วมกันในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเข้ารับราชการกรณีเป็นบุคคลล้มละลาย

เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 19 หน่วยงาน โดย ร้อยตำรวจโทหญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์ รองเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานการประชุม นายปภณ โชคธนวณิชย์ ผู้อำนวยการกอง 2 สำนักงาน ป.ย.ป. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ย.ป. เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและความเสมอภาคของบุคคล กรณีกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามในการรับราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมมีประเด็นการพิจารณา 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความเห็นที่มีต่อแนวทางกฎหมายเกี่ยวกับบุคคลล้มละลาย ซึ่งได้มีการพิจารณา และเสนอความเห็นใน 3 แนวทาง คือ

  • แนวทางที่ 1 ให้คงกฎว่าด้วยบุคคลล้มลายของแต่ละองค์กรกลางไว้ (ไม่มีข้อยกเว้น)
  • แนวทางที่ 2 ให้คง กฎหมายล้มละลาย โดยให้มีข้อยกเว้นเป็นการทั่วไป เช่น กรณีค้ำประกัน
  • แนวทางที่ 3 ให้แก้เป็น กฎหมายกลาง โดยห้ามเฉพาะกรณีล้มละลายทุจริต

ประเด็นที่ 2 การกำหนดตำแหน่งเฉพาะของบุุคคลล้มละลาย เช่น ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการการเมือง เป็นต้น

  • ที่ประชุมให้ความเห็นโดยสรุปว่า ไม่ควรกำหนดรายละเอียดว่าตำแหน่งใดบ้างว่าหากเป็นบุคคลล้มละลายไม่สามารถรับราชการได้ เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดให้ครอบคลุมและปัญหาในทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน ควรให้เป็นดุลพินิจของหน่วยงานที่เลือกผู้ที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ก.พ. อาจต้องวางแนวทางหรือหลักการที่ชัดเจนเพื่อให้แต่ละส่วนราชการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ประเด็นที่ 3 หากเห็นว่าควรมีการปรับแก้กฎหมายล้มละลาย ควรกำหนดให้มีกรณียกเว้นสำหรับบุคคลล้มละลายทุจริตไม่ให้ปฏิบัติราชการ (เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเป็นกรณีไป)

  • ที่ประชุมให้ความเห็นโดยสรุปว่า ควรเปิดโอกาสให้ผู้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ขอยกเว้นการเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตได้ เนื่องจาก การถูกพิพากษาว่าเป็นบุคคลล้มละลายนั้น ปัจจุบันครอบคลุมลักษณะความผิดทั้งหนักและเบา (พระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 163 – มาตรา 170) เช่น อาจถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเพียงเพราะไม่ได้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น ควรให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการประจำส่วนราชการนั้น ๆ ในการพิจารณาการยกเว้นเป็นรายกรณีไป

ประเด็นที่ 4 วิธีการดำเนินการ

  • ที่ประชุมให้ความเห็นโดยสรุป แบ่งเป็น 2 แนวทาง ดังนี้
    1) แนวทางของสำนักงาน ก.พ. : ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลพิจารณาและทบทวน ปรับแก้ไข กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ และนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาพร้อมกัน โดยเบื้องต้นจะขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ
    2) แนวทางของสำนักงาน ป.ย.ป. : ให้ปรับแก้ไขในลักษณะกฎหมายกลาง โดยสำนักงาน ป.ย.ป. รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
Messenger
Skip to content