เมื่อวันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 นางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการกอง 3 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) นำคณะข้าราชการสำนักงาน ป.ย.ป. เข้าร่วมประชุมเก็บข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและครัวเรือนคนจนเป้าหมายในพื้นที่ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลกุดแฮก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ในช่วงแรกเป็นการกล่าวเปิดการประชุมโดย นายศรณ์ รักรงค์ นายอำเภอกุดบาก โดยได้มอบนโยบายโดยสรุปว่า “อำเภอกุดบากอยู่ระหว่างดำเนินการสอบทานข้อมูลครัวเรือนอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยมุ่งหาสาเหตุของปัญหาเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไขจากสาเหตุ มีวัตถุประสงค์หลักคือสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ตามเกณฑ์ให้ได้ ซึ่งการดำเนินการทั้งกระบวนการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน เพื่อที่สุดท้ายแล้วชาวกุดบากจะพ้นจากความยากจนได้ ตลอดจนสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป” จากนั้น นางสาวรานี อิฐรัตน์ ได้กล่าวแนะนำสำนักงาน ป.ย.ป. และวัตถุประสงค์ของการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการในพื้นที่ ต. กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมจากจากทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาประสบความสำเร็จได้
ในช่วงต่อมาเป็นกิจกรรมการระดมความคิดเห็นแบบมีส่วนร่วมจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อจัดเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ปัจจุบันและความคาดหวังที่อยากเห็นพื้นที่พัฒนาไปในทิศทางใด โดยแบ่งกลุ่มการระดมความคิดเห็นเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มหน่วยงานและผู้นำชุมชน ได้แก่ นายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี ปศุสัตว์อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น และ 2) กลุ่มประชาชนที่เป็นคนจนเป้าหมาย ซึ่งสมาชิกของทั้งสองกลุ่มได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยสภาพปัญหาหลักในปัจจุบันโดยสรุป ได้แก่ การจัดการที่ดินทำกิน การจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก การจัดสรรการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ข้อจำกัดทางระเบียบหรือกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนที่ยากจนบางรายยังขาดทัศนคติที่ดีในการพัฒนา ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ปัญหาไฟป่า เป็นต้น
กิจกรรมในช่วงบ่ายคณะผู้ร่วมโครงการได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาเยี่ยมเยียนครัวเรือนคนจนเป้าหมาย สอบทานข้อมูล และสัมภาษณ์ความคาดหวังในการประกอบอาชีพ จากนั้นจึงเข้าศึกษากรณีตัวอย่างกระบวนการพัฒนาที่ให้ชาวบ้านเป็นศูนย์กลางที่ประสบความสำเร็จความสำเร็จ ณ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรศูนย์อินแปง โดยมี นายนิวัฒน์ โพสาวัง เป็นวิทยากรบรรยายรายละเอียดความเป็นมา วัตถุประสงค์หลัก และการบริหารจัดการของศูนย์ ที่เน้นการลดรายจ่ายและพัฒนาอาชีพโดยการเกษตรแบบอินทรีย์ ในการนี้ นายนวัฒน์ฯ ยังได้นำคณะฯ เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตและแปรรูปพืชสมุนไพรของศูนย์อินแปงด้วย และกิจกรรมในตอนท้ายคณะผู้ร่วมโครงการเดินทางไปศึกษาเยี่ยมชมตัวอย่างครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการเกษตรแบบอินทรีย์ ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จทั้งกระบวนการ ได้แก่ การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ การสร้างแปลงปลูก การทำปุ๋ยอินทรีย์ การเพราะปลูก และการจัดหาตลาด ซึ่งจากกรณีศึกษาตัวอย่างทั้งสองที่นี้สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับครัวเรือนคนจนเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพต่อไปได้
*********************************