หน่วยงานรัฐและเอกชนเตรียมพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform)

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมเรื่อง แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform) โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ.ร.

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform : NDTP) โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ป.ย.ป. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ดำเนินการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยให้มีความสอดคล้องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กำหนด รวมทั้งสอดคล้องกับระบบบริการดิจิทัลอื่น ๆ เช่น ระบบ National Single Window ของกระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เป็นต้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม

NDTP คือ แพลตฟอร์มกลางที่มีการบูรณาการข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศที่จะสามารถให้บริการแก่ผู้นำเข้าและส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และจะได้เชื่อมโยงกับการนำเข้าและส่งออกในประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป NDTP จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้การดำเนินการนำเข้าและส่งออกมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

การประชุมในวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อสรุปการดำเนินการต่อไป ดังนี้

  1. การศึกษา ออกแบบและพัฒนา NDTP (System Architecture) รวมทั้งการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบ NSW และระบบอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  2. การพัฒนา NDTP จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนและส่งต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ (electronic transferable records) กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งในระหว่างที่มีการแก้ไขกฎหมายสิ่งที่จะสามารถดำเนินการไปพลางก่อนได้คือ การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติ มาตรฐานของข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้ และเป็นไปตามข้อกำหนด/กฎหมาย/มาตรฐานของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย โดยมีที่ปรึกษาจากบริษัท เบเคอร์ แม็คเคนซี่ จำกัด สนับสนุนการศึกษาและดำเนินการ
  3. การกำหนดรูปแบบ Business Model ของหน่วยงานที่จะดูแล NDTP ว่าจะมีรูปแบบอย่างไร มีต้นทุนการดำเนินการอย่างไร การบริหารความเสี่ยง และการจูงใจให้ผู้นำเข้า-ส่งออกเข้าดำเนินการบน NDTP ซึ่งจะมีการกำหนดขั้นตอนกระบวนการของ NDTP ตลอดจนการเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มกลางอื่น ๆ เช่น ระบบ National Single Window (NSW) ระบบการชำระเงิน/วางหลักประกัน เป็นต้น โดยที่ปรึกษาจาก Accenture สนับสนุนการดำเนินการ

แนวทางการดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกจะเน้นการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเอกสาร/ข้อมูลด้านการส่งออกก่อน ในระยะที่สองจะเน้นการนำเข้า และระยะที่สามจะเป็นการเชื่อมโยงสู่การค้าภายในประเทศ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน แก้ไขและติดตามผลการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย

กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ

Messenger
Skip to content