การติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

     นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชา ให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ร่วมกับสำนักงาน        สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสำคัญประจำปี 2566 แผนงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการภาค 6 ภาค และโครงการกิจกรรมตามแผนปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมาธิการติดตามเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา (คณะกรรมาธิการ ตสร. วุฒิสภา) เห็นควรติดตามเร่งรัด ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและรายงานผลกราบเรียนนายกรัฐมนตรีทุกไตรมาส

การพิจารณาคัดเลือกโครงการของสำนักงาน ป.ย.ป.

     สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และหน่วยงานเจ้าของโครงการ พิจารณาคัดเลือกโครงการจะติดตามขับเคลื่อน ดังนี้

     1. โครงการสำคัญประจำปี 2566 ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ                                                              พิจารณาคัดเลือกจากโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุดในทุกแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติหรือโครงการที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และโครงการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการมีความประสงค์จะให้สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมติดตามขับเคลื่อน โดยดำเนินการติดตามขับเคลื่อนทั้งหมด 23 แผนแม่บท จำนวน 100 โครงการ จากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 406 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 25 ของโครงการสำคัญทั้งหมด

     2. แผนงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการภาค 6 ภาค                                                                                                                                                พิจารณาคัดเลือกจากโครงการที่มีวงเงินเสนอในแผนปฏิบัติการภาคสูงสุดทั้ง 6 ภาค แต่เนื่องจากโครงการที่มีวงเงินสูงสุดในภาคใต้และภาคใต้ชายแดนเป็นโครงการเดียวกัน จึงดำเนินการติดตามขับเคลื่อนแผนงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการภาค 6 ภาค จำนวน 5 โครงการ

     3. โครงการกิจกรรมตามแผนปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมาธิการติดตามเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา (คณะกรรมาธิการ ตสร. วุฒิสภา) เห็นควรติดตามเร่งรัด                                                                                                                                                   สำนักงาน ป.ย.ป. ดำเนินการประสานกับฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมาธิการ ตสร. วุฒิสภา พบว่าจากการติดตามขับเคลื่อนประเด็นในแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน คณะกรรมาธิการ ตสร. วุฒิสภาเห็นว่ามีประเด็นการดำเนินการที่ล่าช้า และต้องติดตามเร่งรัด

แนวทางการติดตามขับเคลื่อนโครงการ

     เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 สำนักงาน ป.ย.ป. จึงได้เชิญผู้นำกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง เข้าร่วมการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บท  ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติโดยกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ณ ห้องประชุม 3 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการ รูปแบบ และระยะเวลาการติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญ

     ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ

     (1) การติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ไตรมาส 3 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ย.ป. ผู้แทนกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และหน่วยงานเจ้าของโครงการ โดยใช้ผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นัดหมายช่วงเวลาในการติดตามขับเคลื่อนโครงการระหว่างวันที่ 1 – 15 มิถุนายน 2566      โดยมีระยะเวลาในการติดตามโครงการแต่ละโครงการประมาณ 30 – 90 นาที                                                                                                               (2) การติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ไตรมาส 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 นัดหมายช่วงเวลาในการติดตามขับเคลื่อนโครงการระหว่างวันที่ 1 – 15 กันยายน 2566                                                                                                                                       เพื่อให้การประสานงานกับกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน ป.ย.ป. จึงได้กำหนดเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ย.ป. ที่รับผิดชอบประสานงานกับกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง เพื่อนัดหมายเวลาในการติดตามขับเคลื่อนโครงการรวม และจัดส่งแบบติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ซึ่งทำให้การติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญเป็นไปอย่างรวดเร็ว บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ผู้บริหารและผู้นำกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุม
นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวเปิดการประชุมและนำเสนอบทบาทของสำนักงาน ป.ย.ป. และกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
ภาพบรรยากาศการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติโดยกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง

การติดตามขับเคลื่อนโครงการ ไตรมาส 3 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

     เมื่อวันที่ 1 – 15 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ย.ป. ผู้แทนกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง และหน่วยงานเจ้าของโครงการ ร่วมกันติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวนทั้งสิ้น 105 โครงการ โดยสามารถสรุปผลการติดตามขับเคลื่อนโครงการฯ ดังนี้                                                                           สำนักงาน ป.ย.ป. ดำเนินการติดตามขับเคลื่อนโครงการสำคัญร่วมกับกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง จากเป้าหมาย 105โครงการ ดำเนินการได้ 104 โครงการ แบ่งเป็นโครงการ  ที่ดำเนินการโดยส่วนราชการ ร้อยละ 60 องค์การมหาชน ร้อยละ 9 หน่วยงานอื่นที่รวมถึงมหาวิทยาลัย ร้อยละ 25 และรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6 โดยเป็นโครงการสำคัญตาม แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 22 แผนแม่บท หน่วยงานเจ้าของโครงการระบุที่มาของโครงการโดยส่วนใหญ่ร้อยละ 62 มาจากนโยบายระดับชาติ โดยมีโครงการที่มาจากความต้องการของพื้นที่อยู่ที่ร้อยละ 10

การให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการของหน่วยงาน

     การให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการนับเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของโครงการ จากการติดตามขับเคลื่อนโครงการพบว่า โครงการกว่าร้อยละ 89     ผู้บริหารองค์กรให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการ โดยกว่าร้อยละ 92 ของโครงการได้ใช้ผลการดำเนินโครงการเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดของหน่วยงาน มีการกำหนดเกณฑ์การควบคุม ติดตาม และประเมินผลโครงการมากกว่าร้อยละ 90 ของโครงการ มีการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งภายนอกและภายในองค์กรอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ โครงการมากกว่าร้อยละ 95 มีการกำหนดตารางเวลาโครงการที่ชัดเจน มีรูปแบบและวิธีวัดผลผลิตและผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ การทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นและร่วมวางแผนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกว่าร้อยละ 77 ของโครงการเป็นการดำเนินงานที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วย ทั้งนี้ มีโครงการร้อยละ 27 ดำเนินการได้ล่าช้ากว่าแผน

การดำเนินโครงการของหน่วยงาน

     ในการดำเนินโครงการสำคัญตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่สำนักงาน ป.ย.ป. ติดตามขับเคลื่อนพบว่า ร้อยละ 61 ของโครงการเป็นการดำเนินงานที่หน่วยงานสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จภายในหน่วยงานเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นภารกิจประจำหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติของหน่วยงาน และร้อยละ 36 ของโครงการต้องมีการดำเนินการขออนุญาตหน่วยงานอื่นก่อนการดำเนินโครงการ เช่น การขอใช้พื้นที่ ขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างหรือย้ายสาธารณูปโภค นอกจากนั้น การดำเนินโครงการสำคัญมากกว่าร้อยละ 60 ของโครงการเป็นการดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายของโครงการให้บรรลุผล ซึ่งเมื่อดำเนินการโครงการสำคัญแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการจำนวน 88 โครงการ จะมีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น เพื่อต่อยอดและหรือขยายผลจากการดำเนินโครงการสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้บรรลุเป้าหมายตาม   แผนแม่บทมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มการทำงานอย่างบูรณาการของภาครัฐมากขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงร้อยละ 26

การดำเนินโครงการของหน่วยงาน

     จากการติดตามขับเคลื่อนโครงการพบว่า มีหลายโครงการที่พบประเด็นปัญหาในการดำเนินโครงการ โดยในแต่ละโครงการอาจพบปัญหามากกว่า 1 ประเด็น ซึ่งประเด็นปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านการเงิน/งบประมาณ คิดเป็นร้อยละ 26 การปฏิบัติงาน คิดเป็นร้อยละ 23 ด้านบุคลากร คิดเป็นร้อยละ 19 ด้านกฎหมาย ระเบียบ และ      ข้อบังคับ คิดเป็นร้อยละ 12 และด้านอื่น ๆ เช่น กลยุทธ์ โครงสร้างการทำงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ คิดเป็นร้อยละ 20

การติดตามขับเคลื่อนโครงการกิจกรรมตามแผนปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมาธิการ ตสร. วุฒิสภา เห็นควรติดตามเร่งรัด

     สำนักงาน ป.ย.ป. อยู่ระหว่างรอรายงานสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 หากได้ความเห็นประการใดจะดำเนินการติดตามต่อไป