โครงการขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ รายการค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ

๑. ที่มาและความสำคัญ

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ยืดเยื้อและเรื้อรัง มาอย่างยาวนาน แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากทุกภาคส่วนในการสร้างความปรองดอง ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปมปัญหาความขัดแย้งก็ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่าไม่มีความคิดเห็นของฝ่ายใดที่ถูก หรือผิดไปทั้งหมด ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืนของตนเอง สิ่งที่ต้องริเริ่มดำเนินการโดยเร็ว คือ การสร้างบรรยากาศแห่งความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมืองได้ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูพื้นฐานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติของผู้มีความเห็นต่างทางความคิดและอุดมการณ์บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และการผลักดันการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ระดับฐานรากอย่างทั่วถึงเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนการพัฒนา โดยปราศจากความขัดแย้งต่อไป

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญเร่งด่วนและมีผลต่อประชาชน อย่างมีนัยสำคัญ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๓ การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ตามแผน การปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีภารกิจหลักในการเสนอแนะมาตรการ แนวทางการดำเนินการและกลไกในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชน และขจัดความขัดแย้งทางการเมือง ในสังคมได้พิจารณาผลการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐในประเด็นเกี่ยวกับ ความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความสามัคคีปรองดองแล้วเห็นว่า ผลการศึกษาดังกล่าวส่วนใหญ่ เป็นข้อเสนอให้ร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองผ่านการสร้างเวทีทั่วประเทศเพื่อเปิดโอกาส ให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน และแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ในวงกว้างต่อข้อเสนอ ทางเลือก ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการสร้างความปรองดอง รวมทั้งออกแบบ ภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทย ตลอดจนกติกาทางการเมืองที่ยอมรับได้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น และหาทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอันจะส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถก้าวออกจากจุดยืนที่แตกต่างกันมาสู่จุดร่วมที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยยึดหลักกระบวนการพูดคุย (Dialogue) ซึ่งถือเป็นหัวใจของการสร้างความปรองดอง

อย่างไรก็ดี การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทางการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมาได้ดำเนินการในลักษณะของการแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้น อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อเป็นบุคคลกลางในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยการแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นรายกรณีไป ซึ่งบางครั้งอาจมิได้ป้องกันการขยายขอบเขตของความขัดแย้งไปสู่วงที่กว้างขึ้นหรือก่อให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุประกอบกับสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปและการพัฒนาเทคโนโลยีอาจทำให้สภาพปัญหาที่เคยศึกษาไว้เดิมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนประเด็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งควรมีแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม เป็นแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนในสังคมอย่างยั่งยืน

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑ เพื่อให้ศึกษารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ศึกษาเปรียบเทียบจากทฤษฎี เอกสารทางวิชาการ เหตุการณ์ความขัดแย้งและวิธีการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกรณีศึกษาของประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาตั้งแต่สาเหตุรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ชุดความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง

๒.๒ เพื่อสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องถิ่น ที่ประกอบไปด้วย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน มีส่วนร่วมในการหาแนวทางการสร้างความปรองดองของคนในชาติ

๒.๓ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา กำหนดแนวทาง และสร้างกระบวนการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตามหลักวิชาการที่เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สันติวิธี และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์

๒.๔ เพื่อให้มีข้อเสนอที่ระบุแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม

๓. ผลการดำเนินงาน

สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอที่ประกอบด้วยแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้ข้อแนะนำจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีนายปกรณ์ ปรียากร ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีผลการศึกษาจากความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นทางออกของความขัดแย้งหรือความปรองดองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ทุกฝ่ายเห็นว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นสิ่งปกติที่ต้องเกิดขึ้นในสังคม การปรองดองคือการทำให้คนในสังคมสามารถเห็นต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ โดยจะต้องดำเนินการอย่างน้อย ๒ เรื่อง ได้แก่

(๑) การปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยการส่งเสริม รักษาระบอบประชาธิปไตย ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างกติกา ที่ชอบธรรม เป็นธรรม และเสมอภาคเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคน

(๒) ปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การสร้างรัฐสวัสดิการ กล่าวคือ เครื่องมือสำคัญในการ สร้างความปรองดองคือ “กติกา” และ “ความอยู่ดีกินดี” ของประชาชน

ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่มเพศสภาพทางเลือกควรเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสำหรับกิจกรรมขับเคลื่อน
การสร้างความปรองดองในด้านต่าง ๆ

๔. ข้อเสนอที่ระบุแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม

จากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น จึงได้ข้อเสนอแนวทาง กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดอง ประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ ดังนี้

(๑) ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความปรองดองในทันที

     มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมต่อประชาชน ลดปัจจัยความขัดแย้ง เสริมความรู้สึกด้านบวกต่อความปรองดอง โดยคาดหมายว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในด้านลบจากความขัดแย้งทางการเมืองได้รับการเยียวยา ประชาชนเกิดความรู้สึกในทางบวกกับหน่วยงานที่เข้าร่วมหรือสนับสนุนโครงการ ประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการในรูปแบบต่าง ๆ มีโอกาสเปิดใจรับฟังปัญหา ความคิด ความรู้สึกของเพื่อนร่วมสังคม และสังคมไทยเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย

(๒) ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การส่งเสริมทัศนคติที่จำเป็นต่อความปรองดอง

               มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้นำและชนชั้น ประชาชน สื่อมวลชน ข้าราชการ นักการเมือง มีทัศนคติและวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย โดยคาดหมายว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของตนเองตามกฎหมาย ประชาชนรับทราบช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมาย ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของตนเองในกระบวนการปรองดอง หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการมีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องของการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้นำ ชนชั้นนำ สื่อมวลชน ข้าราชการ และนักการเมืองตระหนักถึงหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย

(๓) ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การปฏิรูปเชิงสถาบันเพื่อสร้างความปรองดอง

               มีเป้าประสงค์เพื่อปฏิรูประเบียบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติในระบอบประชาธิปไตยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนยอมรับ โดยคาดหมายว่าสังคมไทย มีพลังสนับสนุนกลไก
เชิงสถาบันในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติ ระเบียบการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติในระบอบประชาธิปไตยได้รับการพิจารณาและเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมได้รับ
ความสนใจจากสังคม

(๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อสร้างความปรองดอง มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยได้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน โครงสร้างทางสังคมที่ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และศักยภาพของประชาชน โดยคาดหมายว่าประชาชนสามารถสะท้อนความต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านต่าง ๆ สังคมตระหนักถึงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม
มากขึ้นและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพและศักยภาพของประชาชนลดลง

สามารถอ่านรายละเอียดรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ : https://anyflip.com/jeiiy/pdwm/

Messenger
Skip to content