บทความทางวิชาการเรื่อง “การพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย”

          ที่ผ่านมา หน่วยงานราชการในประเทศไทยมียอดรวมสำหรับการใช้พลังงาน ประมาณปีละ 11,150 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นงบประมาณรายจ่ายภาครัฐประมาณปีละ 46,900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณรายจ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายเป็นประจำในทุกๆ ปี ส่งผลให้กับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดการจ่ายงบประมาณของภาครัฐอย่างยั่งยืน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ลดการใช้พลังงานสำหรับอาคารควบคุมภาครัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ. 2538 ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้กำหนดมาตาการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณของภาครัฐ

          การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ คือ การเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของหน่วยงานราชการ มาเป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนมาลงทุน ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อบริหารจัดการด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนในอาคารของรัฐให้ประหยัดกว่าค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน แต่เนื่องจากการมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ไม่เคยดำเนินการในหน่วยงานภาครัฐ จึงมีข้อขัดข้องด้านกฎ ระเบียบ ที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น การจัดทำคำของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้น

          สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือสำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งได้รับทราบถึงปัญหาและข้อขัดข้องดังกล่าว จึงได้ประสานงานและบูรณาการระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เพื่อหารือและแก้ปัญหา จนได้ข้อสรุปที่จะเป็นแนวทางการจัดทำคำของบประมาณในหน่วยงานภาครัฐเรียบร้อยแล้ว และ
ในระยะต่อไป สำนักงาน ป.ย.ป. อยู่ระหว่างหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกรมบัญชีกลาง เพื่อหาแนวทางที่จะให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้าง และใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ได้ 

          สำนักงาน ป.ย.ป. หวังว่าการขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ได้ จะส่งผลให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณด้านค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างยังยืน และสามารถนำงบประมาณในส่วนที่ประหยัดไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป 

Messenger
Skip to content